เจตสิก
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
เจตสิก (/เจตะสิก/; บาลี: cetasika; สันสกฤต: caitasika) แปลว่า ธรรมที่ประกอบกับจิต, สิ่งที่เกิดในใจ, ทางใจ
เจตสิกหมายถึงองค์ประกอบของจิต อาการหรือการแสดงออกของจิต จัดเป็นสมรรถนะหรือคุณสมบัติของจิต มีลักษณะที่เกิดดับพร้อมกับจิต เป็นอารมณ์ของจิต มีวัตถุที่อาศัยเดียวกับจิต เป็นกฎเกณฑ์ให้ประกอบเป็นจิต เจตสิกแยกเป็นขันธ์ ได้ 3 ขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ (คือความแปรปรวนทางนามธาตุ) สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ (เปรียบเช่นภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จดจำการแก้ทุกขัง) เจตสิกที่เหลืออีก 50 เป็น สังขารขันธ์ (ได้แก่ นามธาตุต่าง ๆ มีสภาวะเป็นข้อมูล ที่เป็นกฎเกณฑ์ให้เป็นไปทั่วของจิต อันเป็นดุจรหัสพันธุ์กรรมของจิต)
เจตสิก หมายถึง ธรรมชาติชนิดหนึ่งซึ่งประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิตให้มีความเป็นไปต่าง ๆ อาการที่ประกอบกับจิตนั้น มีลักษณะ 4 ประการ คือ
- เกิดพร้อมกับจิต
- ดับพร้อมกับจิต
- มีอารมณ์เดียวกับจิต
- อาศัยวัตถุเดียวกับจิต
จิตและเจตสิกที่อิงอาศัยกันนี้ ถ้าเปรียบจิตเป็นน้ำ เจตสิกเป็นสีแดง ผสมกันเป็นน้ำแดง เมื่อผสมกันแล้วไม่สามารถแยกน้ำออกจากสีแดงได้ฉันใด จิตและเจตสิกก็ไม่สามารถแยกออกจากกันเป็นอิสระได้ฉันนั้น สภาวธรรม รวม 4 ประการของเจตสิก มีดังนี้
- ลักษณะของเจตสิกคือ มีการอาศัยจิตเกิดขึ้น
- กิจการงานของเจตสิกคือ เกิดร่วมกับจิต
- ผลงานของเจตสิกคือ เป็นอารมณ์ของจิต
- เหตุที่ทำให้เจตสิกเกิดขึ้นได้ คือ การเกิดขึ้นของจิต
เจตสิกนี้แม้ว่าจะเป็นสิ่งปรุงแต่งจิต ให้จิตมีพฤติกรรมเป็นไปตามลักษณะของเจตสิกก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน เพราะเจตสิกเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็นความพอใจ ความไม่พอใจ ความรัก ความเกลียด ความสงบ หรือฟุ้งซ่าน ล้วนเป็นคุณสมบัติของเจตสิกทั้งสิ้น แต่เจตสิกเกิดขึ้นเอง และแสดงพฤติกรรมเองไม่ได้ ต้องอาศัยจิตเป็นตัวแสดงพฤติกรรมแทน
จึงกล่าวได้ว่า ธรรมชาติของเจตสิกนั้น เกิดพร้อมกับจิต หรือประกอบกับจิตเป็นนิตย์ หรือธรรมชาติ ที่ประกอบกับจิตเป็นนิตย์ ชื่อว่า เจตสิก
การที่ต้องแบ่งจิตออกไปมากมายนั้น เพราะเจตสิกที่ประกอบจิต มีประเภทต่าง ๆ กัน จิตสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดยการเข้าไปรับรู้โลกเป็นอารมณ์ แต่การรับรู้นั้นต้องอาศัยเจตสิกที่เป็นตัวกระทบอารมณ์ครั้งแรก (ผัสสะเจตสิก) เป็นต้น และเจตสิกอื่น ๆ ก็จะร่วมปรุงแต่งจิตให้เป็นไปในอาการต่าง ๆ
การปรุงแต่งของเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับจิตนั้น ทำให้จิตมีความสามารถในการรู้อารมณ์พิเศษแตกต่างกันออกไป เช่น รู้เรื่องของกามคุณอารมณ์ เรื่องของรูปฌาน อรูปฌาน จนถึงรู้นิพพานอารมณ์
เจตสิกจัดเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งมี 4 เรื่องคือ จิตเจตสิก รูป นิพพาน และจัดเป็นเรื่องสำคัญของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งด้วย
เจตสิก 52
[แก้]การที่จิตและเจตสิกจะประกอบกันได้จำต้องมีคุณสมบัติที่คล้ายกัน จึงอยู่ในที่เดียวกันได้ เช่น โลภะเจตสิก จะต้องประกอบได้กับโลภะมูลจิตเท่านั้น เมื่อประกอบกันแล้วโลภะจิตดวงนี้จึงจะสามารถแสดงอำนาจความอยากได้ออกมา โทสะเจตสิกก็ต้องประกอบกับโทสะมูลจิตเท่านั้น โทสะเจตสิกจะ ประกอบกับโลภะจิตไม่ได้ เพราะเป็นสภาพธรรมที่ตรงข้ามกัน คือ โลภะเจตสิกมีสภาพติดใจในอารมณ์ ส่วนโทสะเจตสิกมีสภาพประทุษร้ายทำลายอารมณ์ จึงเข้ากันไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน เจตสิกฝ่ายอกุศล ก็จะเข้ากับโสภณเจตสิกก็ไม่ได้เช่นกัน
กล่าวโดยสรุป ธรรมชาติของเจตสิกนั้นเกิดพร้อมกับจิต หรือประกอบกับจิตเป็นนิตย์ เมื่อประกอบแล้ว ทำให้จิตเป็นบุญ (กุศล) หรือเป็นบาป (อกุศล) ตามการเข้าประกอบ เจตสิกแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ เจตสิกฝ่ายกลาง เข้าได้กับจิตทุกกลุ่ม เรียกว่า อัญญสมานาเจตสิก มี 13 ดวง กลุ่มที่ 2 คือ เจตสิกฝ่ายอกุศลได้แก่ อกุศลเจตสิกมี 14 ดวง เข้าได้กับ กลุ่มอกุศลจิตเท่านั้น กลุ่มสุดท้ายคือเจตสิกฝ่ายดีงาม เข้าได้กับกลุ่มโสภณจิตเท่านั้น โสภณเจตสิกมี 25 ดวง รวมทั้งสามกลุ่มที่กล่าวมาแล้วมีทั้งหมด 52 ประการ จัดเป็นหมวดใหญ่ ๆ ได้ 3 หมวด คือ
อัญญสมานาเจตสิก 13
[แก้]อัญญสมานาเจตสิก หมายถึง เจตสิกฝ่ายกลาง ๆ ที่สามารถเข้าประกอบกับจิตได้ ทั้งกลุ่มกุศลจิต กลุ่มอกุศลจิต และกลุ่มจิตที่ไม่ใช่กุศล / อกุศล (อัพยากตะจิต)
อัญญสมานาเจตสิกมี 13 ดวง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
สัพพจิตตสาธารณะ 7
[แก้]หมายถึงเจตสิกที่เกิดกับจิตทั้งปวง เป็นกลุ่มเจตสิกที่ประกอบได้กับจิตทั่วไปทุกดวง (89 หรือ 121 ดวง) เจตสิกกลุ่มนี้เวลาเข้าประกอบ จะเข้าพร้อมกันทั้ง 7 ดวง แยกจากกันไม่ได้ จึงเรียกเจตสิกกลุ่มนี้ว่า สัพพสาธารณะเจตสิก 7
- ผัสสะ อารมณ์ที่เกิดจากอายตนะ, การกระทบ กิริยาที่กระทบ กิริยาที่ถูกต้อง ความถูกต้อง มีธรรม 3 ประการ คือ อารมณ์ วัตถุ กระทบกัน ทำให้เกิดวิญญาณ มาประชุมร่วมพร้อมกัน
- เวทนา การเสวยอารมณ์ แบ่งเป็น 5 อย่าง
- สุขเวทนา คือ ความสุขสบายทางกาย
- ทุกขเวทนา คือ ความทุกข์ยากลำบากกาย
- โสมนัสเวทนา คือ ความสุขความสบายใจ
- โทมนัสเวทนา คือ ความทุกข์ใจ
- อุเบกขา คือ ความรู้สึกเฉย ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข
- สัญญา ความหมายรู้อารมณ์, การจำ กิริยาจำ ความจำ อันเกิดแต่สัมผัสแห่งมโนวิญญาณธาตุที่สมกัน
- เจตนา ความจงใจต่ออารมณ์, การคิด กิริยาที่คิด ความคิด อันเกิดแต่สัมผัสแห่งมโนวิญญาณธาตุที่สมกัน
- เอกกัคคตา (สมาธิ) ประคองจิตให้มีอารมณ์เดียว, การตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ
- ชีวิตินทรีย์ เป็นใหญ่ในการหล่อเลี้ยงนามธรรม คือจิตและเจตสิกทั้งหลาย, อายุ ความดำรงอยู่ ความเป็นไปอยู่ กิริยาที่เป็นไปอยู่ อาการสืบเนื่องกันอยู่ ความประพฤติเป็นไปอยู่ ความหล่อเลี้ยงอยู่ ชีวิต อินทรีย์คือชีวิต ของนามธรรมนั้น ๆ
- มนสิการ กระทำไว้ในใจ (มโน) ความใส่ใจเป็นอันดีเรียกว่า โยนิโสมนสิการ
ปกิณณกเจตสิก 6
[แก้]หมายถึงเจตสิกที่เรี่ยรายทั่วไป ไม่ได้เกิดกับจิตทุกดวง เป็นกลุ่มเจตสิกที่เข้าประกอบได้กับจิตทั่วไปเช่นกัน แต่เวลาเข้า ประกอบ จะเข้าไม่พร้อมกัน แยกกันประกอบตามลำดับ เจตสิกกลุ่มนี้เรียกว่า ปกิณณกะเจตสิก 6
- วิตก การนึกถึงอารมณ์, ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริ ความที่จิตแนบอยู่ในอารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทอยู่ในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ สัมมาสังกัปปะ
วิตกเจตสิก คือการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์นี้ มีความหมายใกล้เคียงกับเจตนาเจตสิก ความตั้งใจในอารมณ์ และมนสิการ เจตสิก ความใส่ใจในอารมณ์ เพื่อให้เกิดความแตกต่างกัน จึงมีอุปมาด้วยเรือแข่งว่า
- เจตนาเจตสิก อุปมาดังคนพายหัว ต้องคว้าธงให้ได้ อันหมายถึงความสำเร็จ คือชัยชนะ
- มนสิการเจตสิก อุปมาดังคนถือท้าย ต้องคัดวาดเรือให้ตรงไปยังธงอันเป็นหลักชัย
- วิตกเจตสิก อุปมาดังคนพายกลางลำ มุ่งหน้าจ้ำพายไปแต่อย่างเดียว[1]
- วิจาร การประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์, ความตรอง ความพิจารณา ความตามพิจารณา ความเข้าไปพิจารณา ความที่จิตสืบต่ออารมณ์ ความที่จิตเพ่งดูอารมณ์
- อธิโมกข์ การตัดสินอารมณ์ จูงจิตให้เชื่อ(ตามที่คิด)
- ฉันทะ ความชอบใจในสิ่งที่เชื่อ, ความพอใจ การทำความพอใจ ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำความฉลาด ความพอใจในธรรม อันใด นี้เรียกว่า ฉันทะ ภิกษุ ย่อมทำฉันทะนี้ให้เกิด ให้เกิดด้วยดี ให้ตั้งขึ้น ให้ตั้งขึ้นด้วยดี ให้บังเกิด ให้บังเกิดยิ่ง
- วิริยะ ความพยายามตามความเชื่อนั้น, การปรารภความเพียรทางใจ ความขะมักเขม้น ความบากบั่น ความตั้งหน้า ความพยายาม ความอุตสาหะ ความทนทาน ความเข้มแข็ง ความหมั่น ความก้าวไปอย่างไม่ท้อถอย ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความประคับประคองธุระ วิริยินทรีย์ กำลังคือวิริยะ สัมมาวายามะ
- ปีติ ความอิ่มใจ เมื่อรับผลจากความพยายามนั้น, ความอิ่มใจ ความปราโมทย์ ความยินดียิ่ง ความบันเทิง ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความตื่นเต้น ความที่จิตชื่นชมยินดี
- ขุทฺทกาปีติ ปลาบปลื้มใจเล็กน้อยพอรู้สึกขนลุก
- ขณิกาปีติ ปลาบปลื้มใจชั่วขณะเกิดขึ้นบ่อยๆ
- โอกฺกนฺติกาปีติ ปลาบปลื้มใจจนถึงกับตัวโยกตัวโคลง
- อุพฺเพงฺคาปีติ ปลาบปลื้มใจจนถึงกับตัวลอย
- ผราณาปีติ ปลาบปลื้มใจจนนอิ่มเอิบซาบซ่านไปทั่วทั้งกายและใจ
ปีติ กับ สุข ต่างกัน คือ ปีติ เป็นสังขารขันธ์ สุข เป็นเวทนาขันธ์ และเมื่อมีปีติจะต้องมีสุขเสมอแน่นอน แต่เมื่อมีสุขอาจจะไม่มีปีติด้วยก็ได้
อกุศลเจตสิก 14
[แก้]อกุศลเจตสิก หมายถึง เจตสิกฝ่ายอกุศล เป็นกลุ่มเจตสิกที่ประกอบได้กับจิตที่เป็นอกุศลเท่านั้น กลุ่มอกุศลจิต มี 14 ดวง
โลภะ 3
[แก้]- โลภะ ความอยากได้, ความโลภ การโลภ กิริยาที่โลภ ความโลภ การกำหนัดนัก กิริยาที่กำหนัดนัก ความกำหนัด ความเพ่งเล็ง อกุศลมูลคือโลภะ อรรถของโลภะโดยปริยาย ในไวยกรณ์ ตามบาลีในปรมัตถทีปนีฎีกา ได้จำแนกออกไป 10 ประการ คือ
- ตัณหา ความต้องการ อยากได้ซึ่งกามคุณอารมณ์นั้นเรียกว่ากามตัณหา เกิดพร้อมด้วยสัสสตทิฏฐิเรียกว่าภวตัณหา เกิดพร้อมด้วยอุจเฉททิฏฐิเรียกว่าวิภวตัณหา
- ราคะ ความกำหนัด
- กามะ ความใคร่
- นันทิ ความเพลิดเพลิน
- อภิชฌา ความเพ่งเล็ง
- ชเนตติ ความก่อให้เกิดกิเลส
- โปโนพภวิก ความนำให้เกิดในภพใหม่
- อิจฉา ความปรารถนา
- อาสา ความหวัง
- สังโยชน์ ความเกี่ยวข้อง ความผูกพัน ผูกมัด รัดไว้ ล่ามไว้
- ทิฏฐิ = มิจฉาทิฏฐิ การเห็นผิดจากความเป็นจริง,ความเห็นว่า โลกเที่ยงก็ดี ว่าโลกไม่เที่ยงก็ดี ว่าโลกมีที่สุดก็ดี ว่าโลกไม่มีที่สุดก็ดี ว่าชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้นก็ดี ว่าชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่นก็ดี ว่าสัตว์ยังเป็นอยู่เบื้องหน้าแต่มรณะก็ดี ว่าสัตว์ไม่เป็นอยู่เบื้องหน้าแต่มรณะก็ดี ว่าสัตว์ยังเป็นอยู่ก็มี ไม่เป็นอยู่ก็มีเบื้องหน้าแต่มรณะก็ดี ว่าสัตว์ยังเป็นอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่เป็นอยู่ก็ไม่ใช่เบื้องหน้าแต่มรณะก็ดี ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือทิฏฐิ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาส
- มานะ ความอวดดื้อถือตัว, การปรุงแต่ตีราคาให้ค่า ว่าหยาบ ปราณีต หรือเสมอ, การถือตัวว่า เราดีกว่าเขา เราเสมอกับเขา เราเลวกว่าเขา การถือตัว กิริยาที่ถือตัว ความถือตัว มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด การยกตน การเทิดตน การเชิดชูตนดุจธง การยกจิตขึ้น ความมีจิตต้องการเป็นดุจธง มี 9 ประการ ได้แก่
- เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่า เลิศกว่าเขา
- เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่า เสมอเขา
- เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคุณตัวว่า เลวกว่าเขา
- เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่า เลิศกว่าเขา
- เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่า เสมอเขา
- เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่า เลวกว่าเขา
- เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่า เลิศกว่าเขา
- เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่า เสมอเขา
- เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่า เลวกว่าเขา
โทสะ๔
[แก้]- โทสะ ความโกรธ, ขัดเคือง, ไม่พอใจ, อาฆาตวัตถุ อันเป็นเหตุใกล้ให้เกิดโทสะนั้นมี ๑๐ ประการ คือ
- (๑) อาฆาตเขา เพราะคิดว่าเขา ได้ ทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
- (๒) อาฆาตเขา เพราะคิดว่าเขา กำลัง ทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
- (๓) อาฆาตเขา เพราะคิดว่าเขา จัก ทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
- (๔) อาฆาตเขา เพราะคิดว่าเขา ได้ ทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารักเราชอบ
- (๕) อาฆาตเขา เพราะคิดว่าเขา กำลัง ทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารักเราชอบ
- (๖) อาฆาตเขา เพราะคิดว่าเขา จัก ทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารักเราชอบ
- (๗) อาฆาตเขา เพราะคิดว่าเขา ได้ ทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง
- (๘) อาฆาตเขา เพราะคิดว่าเขา กำลัง ทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง
- (๙) อาฆาตเขา เพราะคิดว่าเขา จัก ทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง
- (๑๐) ความอาฆาตเกิดขึ้นในฐานะอันไม่สมควร เช่นเกิดโกรธขึ้นเมื่อเดินสะดุดตอไม้ หรือ เหยียบหนาม เป็นต้น
- อิสสา ความริษยา, การริษยา กิริยาที่ริษยา ความริษยา การเกียดกัน กิริยาที่เกียดกัน ความเกียดกันในลาภสักการะ การทำความเคารพ การนับถือ การไหว้ การบูชาของคนอื่น
- มัจฉริยะ ความตระหนี่, การตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ความตระหนี่ ความหวงแหน ความเหนียวแน่น ความไม่เอื้อเฟื้อ ความไม่เผื่อแผ่แห่งจิต มัจฉริยะมี ๕ ประการ ได้แก่
- (๑) อาวาสมัจฉริย ตระหนี่ที่อยู่
- (๒) กุลมัจฉริย ตระหนี่สกุล
- (๓) ลาภมัจฉริย ตระหนี่ลาภ
- (๔) วัณณมัจฉริย ตระหนี่วรรณะ
- (๕) ธรรมมัจฉริย ตระหนี่ธรรม
- กุกกุจจะ ความเดือดร้อนใจ, ความสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ความสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ความสำคัญว่ามีโทษในของที่ไม่มีโทษ ความสำคัญว่าไม่มีโทษในของที่มีโทษ การรำคาญ กิริยาที่รำคาญ ความรำคาญ ความเดือดร้อนใจ ความยุ่งใจ ซึ่งมีลักษณะเช่นนี้
โมหะ 4
[แก้]- โมหะ ความหลง, ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้ ความไม่รู้โดยสมควรความไม่รู้ตามความเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอาให้ถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ ความไม่พิจารณา ความไม่กระทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัด ความหลง ความลุ่มหลง ความหลงใหล อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา อนุสัยคืออวิชชา ปริยุฏฐานคืออวิชชา ลิ่มคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ (คือ ไม่รู้ความตามที่เป็นจริง) ความไม่รู้ในที่นี้ หมายเฉพาะ ไม่รู้ในธรรม 8 ประการ คือ
1) ทุกฺเข อญาณํ ไม่แจ้งในทุกข์
2) ทุกฺขสมุทเย อญาณํ ไม่แจ้งเหตุให้เกิดทุกข์
3) ทุกฺขนิโรเธ อญาณํ ไม่แจ้งการดับทุกข์
4) ทุกฺขนิโรธคามินิปฏิปทาย อญาณํ ไม่แจ้งหนทางที่จะดับทุกข์
5) ปุพฺพนฺเต ยญาณํ ไม่แจ้งในขันธ์ อายตน ธาตุ อินทริย์ สัจจ ปฏิจจสมุปบาท ที่เป็นส่วนอดีต (อเหตุกทิฏฐิ ไม่เชื่อเหตุ)
6) อปรนฺเตอญาณํ' ไม่แจ้งในขันธ์ อายตน ธาตุ อินทรีย์ สัจจ ปฏิจจสมุปบาท ที่เป็นส่วนอนาคต (อุจเฉททิฏฐิ เห็นว่าสูญและนัตถิกทิฏฐิ ไม่เชื่อผล)
7) ปุพฺพนฺตาปรนฺเต อญาณํ ไม่แจ้งในขันธ์ อายตน ธาตุ อินทรีย์ สัจจ ปฏิจจสมุปบาท ทั้งที่เป็นส่วนในอดีตและในอนาคต (อกริยทิฏฐิ ไม่เชื่อทั้งเหตุทั้งผล)
8) อธิปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ อญาณํ ไม่แจ้งในธรรมที่มีเหตุให้เกิดผลอันต่อเนื่องกัน (อัตตทิฏฐิเชื่อว่าเป็นตัวเป็นตน)
- อหิริ ความไม่ละอายต่อบาป, กิริยาที่ไม่ละอายต่อการประพฤติทุจริตอันเป็นสิ่งที่น่าละอาย กิริยาที่ไม่ละอายต่อการประกอบอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย มีการไม่เคารพตน เป็นเหตุใกล้
- อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อบาป, กิริยาที่ไม่เกรงกลัวต่อการประพฤติทุจริตอันเป็นสิ่งที่น่าเกรงกลัว กิริยาที่ไม่เกรงกลัวต่อการประกอบอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย ไม่มีการเคารพผู้อื่น เป็นเหตุใกล้
- อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน, ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความไม่สงบแห่งจิต ความวุ่นวายใจ ความพล่านแห่งจิต
ถีทุกะ 2
[แก้]แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ ทำให้ท้อแท้หดหู่(ถีนะมิททะ)
- ถีนะ จิตใจหดหู่ ท้อถอยจากอารมณ์, ความไม่สมประกอบแห่งจิต ความไม่ควรแก่การงานแห่งจิต ความท้อแท้ ความถดถอย ความหดหู่ อาการที่หดหู่ ภาวะที่หดหู่ ความซบเซา อาการที่ซบเซา ภาวะที่ซบเซาแห่งจิต
- มิทธะ ความโงกง่วง คือ สภาพที่ทำให้จิตเซื่องซึม ท้อถอยจากอารมณ์, ความไม่สมประกอบแห่งนามกาย ความไม่ควรแก่งานแห่งนามกาย ความปกคลุม ความหุ้มห่อ ความปิดบังไว้ภายใน ความง่วงเหงา ความหาวนอน ความโงกง่วง ความหาวนอน อาการที่หาวนอน ภาวะที่หาวนอน
วิจิกิจฉา 1
[แก้]- วิจิกิจฉา ความสงสัย ความลังเลไม่แน่ใจ, การเคลือบแคลง กิริยาที่เคลือบแคลง ความเคลือบแคลง ความคิดเห็นไปต่าง ๆ นานา ความตัดสินอารมณ์ไม่ได้ ความเห็นเป็นสองแง่ ความเห็นเหมือนทางสองแพร่ง ความสงสัย ความไม่สามารถจะถือเอาโดยส่วนเดียวได้ ความคิดส่ายไป ความคิดคิดพร่าไป ความไม่สามารถจะหยั่งลงถือเอาเป็นยุติได้ ความกระด้างแห่งจิต ความลังเลใจ
ความสงสัยในวิจิกิจฉาเจตสิก หมายเฉพาะสงสัยในธรรม 8 ประการเท่านั้น คือ
(1) สงสัยในพระพุทธเจ้า ได้แก่สงสัยในพระสรีระ (ว่าเห็นจะไม่มีตัวจริง น่าจะสมมุติขึ้น) หรือสงสัยในพระคุณ (พระพุทธคุณ 9)
(2) สงสัยในพระธรรม ว่ามัคค 4 ผล 4 นิพพาน 1 มีจริงหรือและธรรมนี้นำออกจากทุกข์ได้จริงหรือ
(3) สงสัยในพระสงฆ์ ว่าสงฆ์ที่ตั้งอยู่ในมัคค 4 ผล 4 มีจริงหรือ สงฆ์ที่ปฏิบัติดีจริงมีหรือ ผลแห่งทานที่ถวายแก่สงฆ์มีจริงหรือ
(4) สงสัยในสิกขา 3 (ศีล สมาธิ ปัญญา) ว่ามีจริงหรือ ผลานิสงส์แห่งการศึกษาปฏิบัติในสิกขา 3 มีจริงหรือ
(5) สงสัยในขันธ์ 5 อายตน ธาตุที่เป็นส่วนอดีตมีจริงหรือ คือสงสัยว่าชาติก่อนมีจริงหรือ (อเหตุกทิฏฐิ)
(6) สงสัยในขันธ์ อายตน ธาตุ ที่เป็นอนาคต มีจริงหรือ คือสงสัยว่า ชาติหน้ามีจริงหรือ (อุจเฉททิฏฐิ)
(7) สงสัยในขันธ์ อายตน ธาตุ ทั้งที่เป็นส่วนอดีตและอนาคตนั้น มีจริงหรือ คือสงสัยทั้งชาติก่อนและชาติหน้า (อกิริยทิฏฐิ)
(8) สงสัยในปฏิจจสมุปบาทธรรม คือ ธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลอาศัยกันเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไปโดยไม่ขาดสายเลยนั้น มีจริงหรือ (อัตตทิฏฐิ)
ความสงสัยอย่างอื่นที่ไม่ใช่ธรรม 8 ประการ เช่นสงสัยในเรื่องสมมุติและบัญญัติ ไม่เป็นกิเลส
โสภณเจตสิก 25
[แก้]โสภณเจตสิก หมายถึง กลุ่มเจตสิกฝ่ายดีงาม เป็นกลุ่มที่ประกอบได้กับโสภณจิต (ยกเว้นกลุ่มอกุศลจิต และกลุ่มอเหตุกจิตแล้ว จิตที่เหลือชื่อว่าโสภณะจิต) โสภณเจตสิกมี 25 ดวง แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
สาธารณะ 19
[แก้]- สติ ความระลึกได้, ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ
- สัทธา ความเชื่อ, ศรัทธา กิริยาที่เชื่อ กิริยาที่ปลงใจเชื่อ ความเลื่อมใสยิ่ง ศรัทธา สัทธินทรีย์ กำลังคือศรัทธา
- หิริ ความละอายต่อบาป, กิริยาที่ละอายต่อการประพฤติทุจริตอันเป็นสิ่งน่าละอาย กิริยาที่ละอายต่อการประกอบอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย
- โอตตัปปะ ความกลัวต่อบาป, กิริยาที่เกรงกลัวต่อการประพฤติทุจริตอันเป็นสิ่งที่น่าเกรงกลัว กิริยาที่เกรงกลัวต่อการประกอบอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย
- อโลภะ ความไม่อยากได้, การไม่โลภ กิริยาที่ไม่โลภ ความไม่โลภ การไม่กำหนัด กิริยาที่ไม่กำหนัด ความไม่กำหนัด ความไม่เพ่งเล็ง กุศลมูลคืออโลภะ
- อโทสะ (เมตตา) ความไม่คิดประทุษร้าย, การไม่คิดประทุษร้าย กิริยาที่ไม่คิดประทุษร้าย ความไม่คิดประทุษร้าย ความไม่พยาบาท ความไม่คิดเบียดเบียน กุศลมูลคืออโทสะ
- ตัตรมัชฌัตตา (อุเบกขา) การวางจิตเป็นกลางต่ออารมณ์นั้น ๆ, ความสบายทางใจก็ไม่ใช่ ความไม่สบายทางใจก็ไม่ใช่ ความเสวยอารมณ์ ที่ไม่ทุกข์ไม่สุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่ทุกข์ไม่สุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส
ที่เหลือจัดเป็น 6 คู่ คือการบังคับควบคุมเจตสิกและจิตที่ดี คือ
- กายลหุตา จิตตลหุตา ความเบา ความรวดเร็ว ความไม่เชื่องช้า ความไม่กระด้างแห่ง เวทนาขันธ์,สัญญาขันธ์,สังขารขันธ์>กาย วิญญาณขันธ์>จิต (ทำกายจิตเบา)
- กายมุทุตา จิตตมุทุตา ความอ่อน ภาวะที่อ่อน ความไม่กักขฬะ ความไม่แข็ง (ทำกายจิตอ่อน)
- กายกัมมัญญัตตา จิตตกัมมัญญัตตา กิริยาที่ควรแก่การงาน ความควรแก่การงาน ภาวะที่ควรแก่การงาน (ทำกายจิตควรแก่การงาน คือพอประมาณ)
- กายอุชุตา จิตตอุชุตา ความตรง กิริยาที่ตรง ความไม่คด ความไม่โค้ง ความไม่งอ (ทำกายจิตให้ตรง คือแม่นยำ ถูกต้อง)
- กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ การสงบ การสงบระงับ กิริยาที่สงบระงับความสงบระงับ (ทำกายจิตให้สงบ)
- กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา กิริยาที่คล่องแคล่ว ความคล่องแคล่ว ภาวะที่คล่องแคล่ว (ทำกายจิตให้คล่องแคล่ว)
วิรัตติ 3
[แก้]- สัมมาวาจา เจรจาชอบ, การงด การเว้น การเลิกละ เจตนาเครื่องเว้น การไม่ทำ การไม่ประกอบ การไม่ล่วงละเมิด การไม่ล้ำเขต การกำจัดต้นเหตุวจีทุจริต 4 วาจาชอบ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค
- สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ, การงด การเว้น การเลิกละ เจตนาเครื่องเว้น การไม่ทำ การไม่ประกอบ การไม่ล่วงละเมิด การไม่ล้ำเขต การกำจัดต้นเหตุกายทุจริต 3 การงานชอบ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค
- สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ, การงด การเว้น การเลิกละ เจตนาเครื่องเว้น การไม่ทำ การไม่ประกอบ การไม่ล่วงละเมิด การไม่ล้ำเขต การกำจัดต้นเหตุมิจฉาชีพ การเลี้ยงชีพชอบ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค
อัปปมัญญา 2
[แก้]- กรุณา ความสงสารผู้ถึงทุกข์, การสงสาร กิริยาที่สงสาร ความสงสารในสัตว์ทั้งหลาย กรุณาเจโตวิมุตติ
- มุทิตา ความยินดีต่อผู้ได้สุข, การพลอยยินดี กิริยาที่พลอยยินดี ความพลอยยินดีในสัตว์ทั้งหลาย มุทิตาเจโตวิมุตติ
ปัญญา 1
[แก้]- ปัญญา = ปัญญินทรีย์ = อโมหะ (ความเข้าใจ ไม่หลง) ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมายมีความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา อินทรีย์คือปัญญา ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่าง คือ ปัญญา แสงสว่าง คือ ปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ
จิตกับเจตสิก
[แก้]อกุสลจิต
[แก้]ในอกุศลจิตนั้น โมหเจตสิก อหิริกเจตสิก อโนตตัปปเจตสิก และอุทธัจจเจตสิก รวมเรียกว่า โมจตุกะ ประกอบกับอกุศลจิตได้ทุกดวง
โลภเจตสิก ประกอบกับโลภมูลจิตได้หมดทั้ง ๘ ดวง
ทิฏฐิเจตสิก ประกอบกับโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ ดวง
มานเจตสิก ก็ประกอบกับโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ดวง
โทสเจตสิก อิสสาเจตสิก มัจฉริยเจตสิก และกุกกุจจเจตสิก รวมเรียกว่า โทจตุกะ ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ดวง
อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ๓ ดวงนี้ จะไม่เกิดพร้อมกัน เช่น จิตที่ริษยา จะมีอิสสากับโทสะ แต่ไม่มีมัจฉริยะหรือกุกกุจจะ
ถีนเจตสิกและมีทธเจตสิก ซึ่งมีชื่อรวมเรียกว่า ถีทุกะ ประกอบกับจิตที่เป็นสสังขาริก ๕ ดวง
ส่วนวิจิกิจฉาเจตสิก ประกอบกับวิจิกิจฉาสหคตจิตดวงเดียวเท่านั้น
สัพพจิตต วิตก วิจาร วิริยะ | โมจตุกกะ | อธิโมกข์ | ปีติ | ฉันทะ | โลภะ | ทิฏฐิ | มานะ | ถีทุกะ | โทจตุกกะ | วิจิกิจฉา | รวม | |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
โลภมูลจิต ดวงที่ ๑ | 10 | 4 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 19 | ||||
โลภมูลจิต ดวงที่ ๒ | 10 | 4 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 2 | 21 | |||
โลภมูลจิต ดวงที่ ๓ | 10 | 4 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 19 | ||||
โลภมูลจิต ดวงที่ ๔ | 10 | 4 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 2 | 21 | |||
โลภมูลจิต ดวงที่ ๕ | 10 | 4 | 1 | 1 | 1 | 1 | 18 | |||||
โลภมูลจิต ดวงที่ ๖ | 10 | 4 | 1 | 1 | 1 | 1 | 2 | 20 | ||||
โลภมูลจิต ดวงที่ ๗ | 10 | 4 | 1 | 1 | 1 | 1 | 18 | |||||
โลภมูลจิต ดวงที่ ๘ | 10 | 4 | 1 | 1 | 1 | 1 | 2 | 20 | ||||
โทสภมูลจิต อสังขาริก | 10 | 4 | 1 | 1 | 4 | 20 | ||||||
โทสภมูลจิต สสังขาริก | 10 | 4 | 1 | 1 | 2 | 4 | 22 | |||||
โมหมูลจิต วิจิกิจฉา | 10 | 4 | 1 | 15 | ||||||||
โมหมูลจิต อุทธัจจะ | 10 | 4 | 1 | 15 |
อเหตุกจิต
[แก้]มโนธาตุ ๓ ดวง (ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง) กับอุเบกขาสันตีรณจิต ๒ มีเจตสิกประกอบได้ ๑๐ ดวง คือ อัญญสมานาเจตสิก เว้นวิริย ปีติ ฉันทะ
สัพพจิตตสาธารณ | วิตก วิจาร อธิโมกข์ | วิริยะ | ปีติ | รวม | |
---|---|---|---|---|---|
ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ | 7 | 7 | |||
มโนธาตุ ๓ | 7 | 3 | 10 | ||
อุเบกขาสันตีรณ ๒ | 7 | 3 | 10 | ||
โสมนัสสันตีรณ | 7 | 3 | 1 | 11 | |
มโนทวาราวัชชน | 7 | 3 | 1 | 11 | |
หสิตุปปาท | 7 | 3 | 1 | 1 | 12 |
โสภณจิต
[แก้]โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ เกิดได้กับโสภณจิตทั้ง ๕๙ ดวง
วิรตีเจตสิก ๓ ดวง คือสัมมาวาจาเจตสิก สัมมากัมมันตเจตสิก และสัมมาอาชีวเจตสิก เกิดได้กับมหากุสลจิต ๘ และ โลกุตตรจิต ๘ โดยในโลกียจิตจะไม่เกิดพร้อมกัน แต่ในโลกุตตรจิตจะประกอบพร้อมกันทั้ง ๓ ดวง
อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง คือ กรุณาเจตสิก และมุทิตาเจตสิก ย่อมเกิดได้กับจิต ๒๘ ดวง ได้แก่ มหากุสลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ รูปาวจรจิต ๑๒ (เว้นปัญจมฌานจิต ๓)
อัญญาสมานา เว้นปีติ | ปีติ | โสภณสาธารณ | วิรตี | อัปปมัญญา | ปัญญา | รวม | |
---|---|---|---|---|---|---|---|
มหากุศล คู่ที่ ๑ | 12 | 1 | 19 | 3 | 2 | 1 | 38 |
มหากุศล คู่ที่ ๒ | 12 | 1 | 19 | 3 | 2 | 37 | |
มหากุศล คู่ที่ ๓ | 12 | 19 | 3 | 2 | 1 | 37 | |
มหากุศล คู่ที่ ๔ | 12 | 19 | 3 | 2 | 36 | ||
มหาวิบาก คู่ที่ ๑ | 12 | 1 | 19 | 1 | 33 | ||
มหาวิบาก คู่ที่ ๒ | 12 | 1 | 19 | 32 | |||
มหาวิบาก คู่ที่ ๓ | 12 | 19 | 1 | 32 | |||
มหาวิบาก คู่ที่ ๔ | 12 | 19 | 31 | ||||
มหากิริยา คู่ที่ ๑ | 12 | 1 | 19 | 2 | 1 | 35 | |
มหากิริยา คู่ที่ ๒ | 12 | 1 | 19 | 2 | 34 | ||
มหากิริยา คู่ที่ ๓ | 12 | 19 | 2 | 1 | 34 | ||
มหากิริยา คู่ที่ ๔ | 12 | 19 | 2 | 33 |
สัพพจิตตสาธารณ อธิโมกข์ วิริยะ ฉันทะ | วิตก | วิจาร | ปีติ | โสภณสาธารณ ปัญญา | วิรตี | อัปปมัญญา | รวม | ||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
รูปาวจร | ปฐมฌาน | 10 | 1 | 1 | 1 | 20 | 2 | 35 | |
ทุติยฌาน | 10 | 1 | 1 | 20 | 2 | 34 | |||
ตติยฌาน | 10 | 1 | 20 | 2 | 33 | ||||
จตุตถฌาน | 10 | 20 | 2 | 32 | |||||
ปัญจมฌาน | 10 | 20 | 30 | ||||||
โลกุตตร | ปฐมฌาน | 10 | 1 | 1 | 1 | 20 | 3 | 36 | |
ทุติยฌาน | 10 | 1 | 1 | 20 | 3 | 35 | |||
ตติยฌาน | 10 | 1 | 20 | 3 | 34 | ||||
จตุตถฌาน | 10 | 20 | 3 | 33 | |||||
ปัญจมฌาน | 10 | 20 | 3 | 33 |
อ้างอิง
[แก้]- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
- พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๑ ธรรมสังคณีปกรณ์
- https://www.thepathofpurity.com/พระอภ-ธรรม/แผนภาพ-พระอภ-ธรรม/
- https://www.thepathofpurity.com/พระอภ-ธรรม/พระอภ-ธ-มม-ตถส-งคหะ/ปร-จเฉทท-๒/
- ↑ "ปริจเฉทที่ ๒". thepathofpurity (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).