ชะมด
ชะมด | |
---|---|
Civettictis civetta | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม Mammalia |
อันดับ: | สัตว์กินเนื้อ Carnivora |
อันดับย่อย: | เฟลิฟอเมีย Feliformia |
รวมสกุล | |
สกุลที่ยกเว้น | |
ชะมด หรือ เห็นอ้ม ในภาษาอีสาน[1] (อังกฤษ: civet) เป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในอันดับสัตว์กินเนื้อจำพวกหนึ่ง ที่อยู่ในวงศ์ Viverridae (ในอดีตเคยจัดให้พังพอนอยู่ในวงศ์นี้ด้วย[1])
โดยคำว่า "ชะมด" ในภาษาไทย สันนิษฐานว่ามาจากคำในภาษาอาหรับว่า "ซะบาด" (زَبَاد)[2]
ชะมดมีรูปร่างโดยรวม คือ ใบหน้าแหลม รูปร่างเพรียว ตัวมีสีเทาหรือนํ้าตาล มีลายจุดสีดำตามยาวทั่วตัว หางและขนหางยาวมีลายเป็นปล้อง สามารถยืดหดเล็บได้เหมือนแมว มักออกหากินในเวลากลางคืน เป็นสัตว์ที่กินอาหารได้หลากหลายทั้งพืชและสัตว์ เป็นสัตว์ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศได้หลากหลาย โดยสามารถอาศัยอยู่ในชายป่าใกล้ชุมชนหรือแหล่งเกษตรกรรมของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำคล้ายนากด้วยในบางชนิด[3] มีความปราดเปรียวว่องไว หากินทั้งทั้งบนพื้นดินและบนต้นไม้ บางครั้งอาจเข้ามาขโมยเป็ดไก่หรือธัญพืชไปกินเป็นอาหาร โดยในบางชนิดในแอฟริกายังมีพฤติกรรมขโมยกินน้ำตาลสดจากกระบอกที่มีผู้ไปรองเก็บมาจากงวงตาลได้อีกด้วย ซึ่งน้ำตาลนี้จะนำไปหมักเพื่อทำน้ำตาลเมา [4]
เป็นสัตว์ที่กระจายพันธุ์ในทวีปเอเชีย ในภูมิภาคเอเชียใต้จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก รวมถึงทวีปแอฟริกาด้วย ในประเทศไทยพบด้วยกันหลายชนิด [4]
ลักษณะเด่นอีกประการของชะมด คือ มีต่อมกลิ่นอยู่บริเวณใต้โคนหางใกล้กับรูทวารและอวัยวะเพศ ต่อมนี้มีหน้าที่ผลิตสารเคมีกลิ่นฉุนที่มีลักษณะคล้ายน้ำมัน ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตเป็นหัวน้ำหอมหรือยาสมุนไพรได้ โดยเลี้ยงไว้ในกรงและปักเสาไม้ไว้ที่กลางกรง ชะมดจะเอาต่อมเช็ดสารเคมีนี้ทิ้งไว้ นานวันเข้าจะจับตัวเป็นก้อน จึงขูดออกไปขาย ซึ่งมีสนนราคาขายแพงมาก[5][4] โดยผลิตภัณฑ์ของชะมดที่มีชื่อเสียงมาแต่โบราณอยู่ที่เมืองอาเจะฮ์ในอินโดนีเซีย[2]
นอกจากนี้ ชะมดในสกุล Paradoxurus หรืออีเห็นในบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มีการเลี้ยงชะมดในสกุลนี้ให้กินเมล็ดกาแฟ เมื่อถ่ายมูลออกมาแล้ว เมล็ดกาแฟจะไม่ถูกย่อยสลาย จะออกมาเป็นเมล็ดเหมือนเดิม จากนั้นจะนำไปล้างและคั่วเป็นกาแฟสำหรับจำหน่าย ซึ่งกาแฟลักษณะนี้เรียกว่า "กาแฟขี้ชะมด" เป็นกาแฟที่มีรสชาติกลมกล่อม หอมหวาน อร่อยกว่ากาแฟทั่วไป จึงมีราคาขายที่แพงกว่ากาแฟปกติทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากในระบบย่อยอาหารของอีเห็นมีเอนไซม์ที่ทำให้เมล็ดกาแฟมีรสชาติที่หอมหวาน[6][7][8]
สำหรับในประเทศไทย การเลี้ยงชะมดหรืออีเห็นเพื่อใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ 2 ประการนี้ ยังอยู่ในภาวะเริ่มต้น โดยสวนสัตว์เชียงใหม่เพิ่งสามารถที่จะเพาะขยายพันธุ์ชะมดเช็ดซึ่งเป็นชะมดขนาดเล็กให้ขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้เป็นที่สำเร็จ[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2541. 930 หน้า. หน้า 260. ISBN 974-8122-79-4
- ↑ 2.0 2.1 หน้า 3, ของหอม. "ชักธงรบ" โดย กิเลน ประลองเชิง. ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21260: วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559: ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก
- ↑ Veron, G., Gaubert, P., Franklin, N., Jennings, A. P. and Grassman Jr., L. I. (2006). A reassessment of the distribution and taxonomy of the Endangered otter civet Cynogale bennettii (Carnivora: Viverridae) of South-east Asia. Oryx 40: 42–49.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 ชมรมนิเวศวิทยามหาวิทยาลัยมหิดล. สัตว์สวยป่างาม. กรุงเทพมหานคร : แพร่พิทยา อินเตอร์เนชั่นแนล หจก., 2518. 211 หน้า. หน้า 137.
- ↑ 5.0 5.1 "ตระเวนข่าว: ข่าววันใหม่". ช่อง 3. 29 พฤศจิกายน 2014. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2014.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "กาแฟขี้ชะมด สุดยอดแห่งรสชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 ธันวาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2014.
- ↑ "ชะมดเช็ด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2014.
- ↑ [1]เก็บถาวร 2013-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน "กาแฟขี้เพียงพอน" สินค้าราคาแพงจากเวียดนาม จากผู้จัดการออนไลน์