ราชอาณาจักรอารากอน
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ราชอาณาจักรอารากอน Reino d'Aragón (อารากอน) Reino de Aragón (สเปน) Regne d'Aragó (กาตาลา) Regnum Aragonum (ละติน) | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ค.ศ. 1035–1707 | |||||||
ราชอาณาจักรอารากอนเมื่อปี ค.ศ. 1400 | |||||||
สถานะ | ราชอาณาจักร | ||||||
เมืองหลวง | ซาราโกซา | ||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษาอารากอน ภาษากาตาลา และภาษากัสติยา | ||||||
ศาสนา | คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก | ||||||
การปกครอง | ราชาธิปไตย | ||||||
กษัตริย์ | |||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||
• แคว้นอารากอนก่อตั้งเป็นราชอาณาจักรอิสระ | ค.ศ. 1035 | ||||||
• อารากอนและกัสติยารวมเป็นประเทศสเปน | 1707 | ||||||
|
ราชอาณาจักรอารากอน[1] (สเปน: Reino de Aragón; อารากอน: Reino d'Aragón; กาตาลา: Regne d'Aragó; ละติน: Regnum Aragonum) เป็นราชอาณาจักรที่ตั้งอยู่ในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสเปนระหว่างปี ค.ศ. 1035 ถึงปี ค.ศ. 1707 โดยมีพระเจ้ารามิโรที่ 1 แห่งอารากอนแห่งราชวงศ์อารากอนเป็นกษัตริย์องค์แรก อาณาจักรอารากอนเป็นอาณาจักรแบบราชาธิปไตย อาณาบริเวณเป็นบริเวณเดียวกับแคว้นอารากอนในประเทศสเปนปัจจุบัน ราชอาณาจักรอารากอนเดิมเป็นส่วนหนึ่งของ “ราชบัลลังก์อารากอน” (Crown of Aragon) ซึ่งรวมทั้งราชอาณาจักรบาเลนเซียและราชรัฐกาตาลุญญา ซึ่งมีประมุขร่วมกัน
ราชอาณาจักรเดิมเป็นแคว้นฟิวดัลของชาวแฟรงก์รอบเมืองฆากาซึ่งรวมตัวกับราชอาณาจักรปัมโปลนาที่ต่อมาเป็นราชอาณาจักรนาวาร์ในปี ค.ศ. 925 แคว้นอารากอนแยกตัวจากราชอาณาจักรนาวาร์ในปี ค.ศ. 1035 และเลื่อนฐานะขึ้นเป็นอาณาจักรเต็มตัวโดยพระเจ้ารามิโรที่ 1 อาณาจักรอารากอนขยายตัวไปทางใต้ทางอูเอสกา ในปี ค.ศ. 1096 และต่อมาซาราโกซา ในปี ค.ศ. 1118 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1285 พรมแดนทางใต้ที่สุดของอารากอนเป็นดินแดนจากมัวร์
อาณาจักรอารากอนรวมกับราชบัลลังก์อารากอนหลังจากการเสกสมรสระหว่างสองราชวงศ์ในปี ค.ศ. 1150 ระหว่างราโมน บารังเกที่ 4 เคานต์แห่งบาร์เซโลนา และเปโตรนีลาแห่งอารากอน พระราชินีแห่งอารากอน พระโอรสของทั้งสองพระองค์ได้รับดินแดนของทั้งสองอาณาจักร นอกจากนั้นพระเจ้าแผ่นดินแห่งอารากอนยังได้รับตำแหน่งเพิ่มเป็นเคานต์แห่งบาร์เซโลนา ปกครองดินแดนเดิมและราชรัฐกาตาลุญญา และต่อมาหมู่เกาะแบลีแอริก ราชอาณาจักรบาเลนเซีย ราชอาณาจักรซิซิลี ราชอาณาจักรเนเปิลส์ และราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย
พระเจ้าแผ่นดินแห่งอารากอนเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกที่ทรงปกครองบริเวณอารากอนโดยตรงและทรงดำรงตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินแห่งบาเลนเซีย พระเจ้าแผ่นดินแห่งมาจอร์กา (ชั่วระยะหนึ่ง) เคานต์แห่งบาร์เซโลนา ลอร์ดแห่งมงเปอลีเย และดุ๊กแห่งเอเธนส์ (ชั่วระยะหนึ่ง) แต่ละตำแหน่งที่ได้มาหรือเสียไปก็เป็นการเพื่มหรือลดดินแดนภายใต้การปกครองในคริสต์ศตวรรษที่ 14 อำนาจของพระมหากษัตริย์แห่งอารากอนก็จำกัดลงเพียงบริเวณอารากอนเองตามข้อตกลง “สหภาพอารากอน” (Union of Aragon)
ราชบัลลังก์อารากอนถูกยุบเลิกโดยปริยายหลังจากการรวมกับราชบัลลังก์กัสติยา แต่หลังจากการรวมตัวอารากอนก็ยังรักษาอำนาจบางอย่างอยู่บ้างจนกระทั่งมาสิ้นสุดลงทั้งหมดตามพระราชกฤษฎีกานูเอบาปลันตา (Nueva Planta decrees) ที่ออกในปี ค.ศ. 1707
ประวัติศาสตร์
[แก้]การถือกำเนิด
[แก้]อารากอนเดิมทีเป็นเคานตีตามระบอบศักกดินาของราชวงศ์การอแล็งเฌียงซึ่งตั้งอยู่แถวเมืองฆากา ต่อมาในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 9 ได้กลายเป็นรัฐบริวารของราชอาณาจักรปัมโปลนา (ต่อมาคือราชอาณาจักรนาวาร์) ตระกูลของเคานต์แห่งอารากอนสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 922 เมื่อไร้ซึ่งทายาทเพศชาย
หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าซันโชที่ 3 แห่งนาวาร์ในปี ค.ศ. 1035 ราชอาณาจักรนาวาร์ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ (1) ปัมโปลนาและดินแดนที่อยู่ห่างไกลออกไปตามแนวชายฝั่งและพื้นที่ทางตะวันตกของแคว้นบาสก์ (2) กัสติยา และ (3) โซบราเบ, ริบาร์โกร์ซา และอารากอน กอนโซลา พระโอรสของพระเจ้าซันโช ได้สืบทอดต่อโซบราเบและริบาร์โกร์ซา ขณะที่รามิโร บุตรชายนอกสมรสได้บริหารปกครองอารากอนภายใต้การปกครองของกอนซาโลอีกทีหนึ่ง[2] แต่หลังจากนั้นไม่นานกอนซาโลถูกสังหาร ดินแดนทั้งหมดที่เป็นของพระองค์จึงตกเป็นของรามิโร พระอนุชานอกสมรสที่กลายเป็นกษัตริย์แห่งอารากอนในทางพฤตินัยคนแรก[3] แม้พระองค์จะไม่เคยได้ครองตำแหน่งนี้ อารากอนถูกจำกัดพื้นที่ด้วยเทือกเขาพีรินีและมีพรมแดนติดกับราชอาณาจักรนาวาร์ที่ทรงอำนาจที่สุดและไตฟาซาราโกซาที่มีความสำคัญ แต่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและความต้องการดินแดนมาเป็นที่อยู่อาศัยผลักดันให้ต้องขยายอาณาเขต แม้ว่าในช่วงแรกจะมีการทหารที่อ่อนแอ[4]
หลังปราบพระเชษฐา พระเจ้าการ์ซิอา ซันเชซที่ 3 แห่งนาวาร์ ได้ รามิโรสร้างเอกราชให้อารากอนได้สำเร็จ พระโอรสของพระองค์ พระเจ้าซันโช รามิเรซ ที่ได้สืบทอดต่อราชอาณาจักรนาวาร์ด้วยเป็นคนแรกที่เรียกตนเองว่า "กษัตริย์ของชาวอารากอนและชาวปัมโปลนา"[5]
การขยายอาณาเขต
[แก้]จุดมุ่งหมายของพระเจ้ารามิโรที่ 1 ในการพิชิตพื้นที่ราบกลับคืนมาได้รับการสานต่อจากผู้สืบทอดตำแหน่งของพระองค์ทันที
พระเจ้าซันโช การ์เซสที่ 4 แห่งนาวาร์ถูกพระอนุชาของตนเองสังหารในปี ค.ศ. 1076[4] ชาวนาวาร์ไม่ต้องการได้คนที่ฆ่าพี่น้องมาบริหารปกครองจึงเลือกพระเจ้าซันโช รามิเรซแห่งอารากอนเป็นกษัตริย์ อันเป็นการรวมราชบัลลังก์ปัมโปลนาเข้ากับอารากอน ราชอาณาจักรนาวาร์ถูกแบ่งให้ราชอาณาจักรเลออน-กัสติยา และราชอาณาจักรอาณาจักรอารากอนซึ่งได้รับอาณาเขตสำคัญ หนึ่งในนั้นคือเมืองหลวงของนาวาร์ และขยายขนาดใหญ่ขึ้นสามเท่า แม้จะต้องแลกกับการยอมรับการครองอำนาจเหนือกว่าในทางทฤษฎีของเลออน-กัสติยา[4] เพื่อฉลองการขยายอาณาเขต พระเจ้าซันโชได้ก่อตั้งเมืองฆากาขึ้น ขณะควบคุมพื้นที่สูงที่มีพรมแดนติดกันแม่น้ำเอโบรทางตอนเหนือ พระองค์ได้ทำการรุกรานหลายครั้ง โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ไตฟาซาราโกซา และได้พยายามขยายอาณาเขตไปทางพื้นที่ราบ โดยมีเป้าหมายหลักคือพื้นที่ราบที่อยู่ติดกับหุบเขาอารากอน, โซบราเบ และริบาโกร์ซา[6] เพื่อชดเชยการขาดแคลนกำลังพลที่จำเป็นต้องใช้ในการขยายอาณาเขต พระองค์ได้พยายามนำเอากำลังพลมาจากทางใต้ของฝรั่งเศส[6] การขยายดินแดนประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการพิชิตจุดยุทธศาสตร์อย่างเกราส์ในปี ค.ศ. 1083 และอาเยร์เบในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน[7] ในปี ค.ศ. 1089 การปิดล้อมมอนซอนของอารากอนถูกขัดขวางโดยชุมชนทีตั้งอยู่ระหว่างแยย์ดากับอูเอสกา ในปี ค.ศ. 1091 อารากอนได้สร้างปราสาทเอลกัสเตยาร์ขึ้นมาบนพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างซาราโกซากับตูเดลา[8] พระเจ้าซันโชทำการปิดล้อมเมืองอูเอสกาซึ่งเป็นเมืองสำคัญที่มีขนาดใหญ่กว่าฆากาและปัมโปลนา แต่ทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อน ผู้ที่ขึ้นสืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์ทันทีคือพระเจ้าเปโดร พระโอรส ที่กลับมาปิดล้อมเมืองต่อทันที[9]
พระเจ้าเปโดรที่ 1 แห่งอารากอนพิชิตอูเอสกาได้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1096 หลังปราบพระเจ้าอัลมุสตาอินที่ 2 แห่งไตฟาซาราโกซาได้ในสมรภูมิอัลกอรัซซึ่งต่อสู้กันเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนของปีเดียวกันนั้น[10] ในปี ค.ศ. 1101 ทรงยึดบาร์บัสโตรและซารีญเญนา และยึดตามารีเตเดลีเตราได้ในปี ค.ศ. 1104
ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 ผู้ประจันบาญ การยึดซาราโกซาได้ในปี ค.ศ. 1118 นำไปสู่การล่มสลายของราชอาณาจักรมัวร์ทั้งหมด พระเจ้าอัลฟอนโซประสบความล้มเหลวในชีวิตแต่งงานกับพระราชินีอูร์รากาแห่งเลออน ทั้งคู่ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน ตามพระประสงค์ของพระองค์ ทรงยกราชอาณาจักรของตนให้กับกลุ่มทหารสามกลุ่ม แต่ไม่มีใครคิดจะทำตามพระประสงค์นั้น ขุนนางอารากอนได้รวมตัวกันที่ฆากาและยอมรับรามิโร พระอนุชาของพระองค์เป็นกษัตริย์ ฝั่งนาวาร์ได้เลือกการ์ซิอา รามิเรซเป็นกษัตริย์ และแยกตัวออกมาเป็นราชอาณาจักรนาวาร์ ในตอนนั้นรามิโรดำรงตำแหน่งเป็นบิชอปแห่งโรดา-บาร์บัสโตร แต่ต้องมาครองบัลลังก์
ราชบัลลังก์อารากอน
[แก้]ในปี ค.ศ. 1137 พระเจ้ารามิโรที่ 2 ผู้เป็นพระได้ตกลงหมั้นหมายเปโตรนิยาแห่งอารากอน พระธิดาเพียงคนเดียวของพระองค์ กับราโมน บารังเกที่ 4 แห่งบาร์เซโลนา พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 แห่งอารากอน พระโอรสของทั้งคู่เป็นกษัตริย์คนแรกที่สืบทอดตำแหน่งเป็นทั้งกษัตริย์แห่งอารากอนและเคานต์แห่งบาร์เซโลนา และปกครองอาณาเขตที่ไม่ได้มีเพียงแคว้นอารากอนในปัจจุบัน แต่ยังรวมถึงกาตาลุญญา และมาจอร์กา, บาเลนเซีย, ซิซิลี, เนเปิลส์ และซาร์ดิเนียในเวลาต่อมา กษัตริย์แห่งอารากอนเป็นกษัตริย์โดยตรงของแคว้นอารากอน และยังครองตำแหน่งเป็นเคานต์แห่งโพรว็องส์, เคานต์แห่งบาร์เซโลนา, ลอร์ดแห่งมงเปอลีเย และดยุคแห่งเอเธนส์และเนโอปาเตรีย ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้จะเปลี่ยนไปเมื่อทรงสูญเสียและพิชิตดินแดนได้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระราชอำนาจถูกจำกัดโดยสหภาพอารากอน
การรวมกันของราชบัลก์อารากอนและราชบัลลังก์กัสติยา และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
[แก้]ราชบัลลังก์อารากอนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองระบอบกษัตริย์ของสเปนหลังการรวมราชวงศ์กับกัสติยา ซึ่งถูกมองว่าเป็นการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในทางพฤตินัยของราชอาณาจักรทั้งสองภายใต้พระมหากษัตริย์ส่วนกลาง ในปี ค.ศ. 1412 หลังการหมดสิ้นทายาทในปี ค.ศ. 1410 ของราชบาร์เซโลนาซึ่งปกครองราชบัลลังก์มาจนถึงช่วงเวลาดังกล่าว ผู้สรรหาของอารากอนได้เลือกเจ้าชายกัสติยา เฟร์นันโดแห่งอันเตกีรา เป็นผู้ครองบัลลังก์อารากอนที่ว่างอยู่ ท่ามกลางการต่อต้านอย่างรุนแรงจากชาวกาตาลัน พระเจ้าฆวนที่ 2 แห่งอารากอน หนึ่งในผู้สืบทอดตำแหน่งของพระเจ้าเฟร์นันโด จัดการกับการต่อต้านของชาวกาตาลันด้วยการจับเฟร์นันโด ทายาทแห่งกาตาลุญญา แต่งงานกับอีซาเบล รัชทายาทของพระเจ้าเอนริเกที่ 4 แห่งกัสติยา ในปี ค.ศ. 1479 เมื่อพระเจ้าฆวนที่ 2 สิ้นพระชนม์ ราชบัลลังก์อารากอนและราชบัลลังก์กัสตียาถูกรวมเข้าด้วยกันและกลายเป็นหัวใจหลักของประเทศสเปนในปัจจุบัน ทว่าต่อมาดินแดนของอารากอนตกเป็นของสภาและหน่วยงานอิสระด้านการบริหารปกครอง จนกระทั่งพระเจ้าเฟลิเปที่ 5 แห่งสเปนประกาศใช้พระราชกฤษฎีกานูเอบาปลันตาในช่วงปี ค.ศ. 1707 ถึง ค.ศ. 1715 หลังเกิดสงครามการสืบราชบัลลังก์สเปนซึ่งสุดท้ายก็ได้ข้อยุติ[11] พระราชกฤษฎีกายุติราชอาณาจักรอารากอน, ราชอาณาจักรบาเลนเซีย, ราชอาณาจักรมาจอร์กา และราชรัฐกาตาลุญญา และรวมดินแดนดังกล่าวเข้ากับกัสติยาเพื่อสร้างราชอาณาจักรสเปนขึ้นมาอย่างเป็นทางการ[12] พระราชกฤษฎีกานูเอบาปลันตาฉบับใหม่ในปี ค.ศ. 1711 คืนสิทธิบางส่วนให้อารากอน เช่น สิทธิพลเมืองของชาวอารากอน แต่ยังคงการยุติอิสรภาพทางการเมืองของราชอาณาจักรไว้[12]
ราชอาณาจักรอารากอนเดิมเหลือรอดอยู่ในฐานะหน่วยปกครองย่อยจนถึงปี ค.ศ. 1833 เมื่อดินแดนถูกแบ่งออกเป็นสามจังหวัด หลังการเสียชีวิตของฟรานซิสโก ฟรังโกในปี ค.ศ. 1982 อารากอนกลายเป็นหนึ่งในแคว้นปกครองตนเองของประเทศสเปน
การสืบราชบัลลังก์
[แก้]ราชวงศ์ฆิเมเนซ
[แก้]ราชอาณาจักรอารากอนเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1035 ที่สถาปนาตนเป็นราชอาณาจักรอิสระ โดยมีปฐมกษัตริย์คือพระเจ้ารามิโรที่ 1 แห่งอารากอน พระโอรสนอกสมรสของพระเจ้าซันโชที่ 3 แห่งปัมโปลนา
พระมเหสีคนแรกของพระเจ้ารามิโรคือเอร์เมซินดาแห่งบิกอร์เร พระราชินีแห่งอารากอนคนแรก ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันห้าคน เอร์เมซินดาสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1049 กษัตริย์อภิเษกสมรสใหม่กับหญิงชื่อแอนเญ็ส ซึ่งอาจเป็นบุตรสาวของดยุคแห่งอากีแตน แต่ทั้งคู่ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน พระเจ้ารามิโรสิ้นพระชนม์ที่สมรภูมิเกราส์ในปี ค.ศ. 1063 ผู้สืบทอดต่อตำแหน่งคือพระเจ้าซันโชที่ 5 ผู้เป็นพระโอรสคนโต พระเจ้าซันโชอภิเษกสมรสกับอิซาเบลแห่งอูร์เกลในปี ค.ศ. 1062 ทั้งคู่มีพระโอรสด้วยกันหนึ่งคนก่อนจะหย่าขาดจากกันในปี ค.ศ. 1070 ปีต่อมากษัตริย์อภิเษกสมรสใหม่กับเฟลิเซียแห่งรูซี ทั้งคู๋มีพระโอรสธิดาด้วยกันสามคน พระเจ้าซันโชสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1094 ที่สมรภูมิอูเอสกา ผู้สืบทอดต่อตำแหน่งคือพระเจ้าเปโดรที่ 1 แห่งอารากอนผู้เป็นพระโอรสคนโต ในปี ค.ศ. 1086 พระองค์อภิเษกสมรสกับแอนเญ็สแห่งอากีแตน ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันสองคนซึ่งต่างก็สิ้นพระชนม์ก่อนพระบิดา แอนเญ็สสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1097 พระเจ้าเปโดรอภิเษกสมรสใหม่กับหญิงชื่อแบร์ธา แต่ทั้งคู่ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน พระเจ้าเปโดรสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1104 ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์คือพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 ผู้เป็นพระอนุชาต่างมารดา
พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 สร้างชื่อเสียงให้กับตนเองในสนามรบและอภิเษกสมรสกับพระราชินีอูร์รากาแห่งเลออนและกัสติยาในปี ค.ศ. 1109 แต่การแต่งงานถูกประกาศให้เป็นโมฆะในปี ค.ศ. 1112 เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1134 ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อคือพระเจ้ารามิโรที่ 2 พระอนุชาคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้ารามิโรได้สาบานตนเข้าสู่อาราม แต่พระองค์ระงับคำสาบานชั่วคราวเพื่อมาแต่งงานกับแอนเญ็สแห่งอากีแตนและเป็นบิดาของรัชทายาท พระองค์จึงเป็นที่รู้จักในชื่อผู้เป็นพระ ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันเพียงคนเดียวคือเปโตรนียาที่เสด็จพระราชสมภพในปี ค.ศ. 1136 ทรงจัดแจงให้พระธิดาแต่งงานกับราโมน บารังเกที่ 4 เคานต์แห่งบาร์เซโลนาซึ่งแก่กว่าเปโตรนียา 23 ปี และสละราชบัลลังก์ให้พระธิดา เปโตรนียากลายเป็นพระราชินีผู้ปกครองคนแรกของอารากอนตอนอายุเพียง 1 พรรษา การแต่งงานได้รับการอนุมัติเมื่อพระราชินีเปโตรนียาพระชนมายุ 14 พรรษาและถูกทำให้สมบูรณ์ในปีต่อมา การแต่งงานให้กำเนิดพระโอรสธิดาห้าคน พระราชินีเปโตรนียาเป็นม่ายในปี ค.ศ. 1162 และพระองค์สละราชบัลลังก์ให้พระโอรสวัย 7 พรรษาในสองปีต่อมา พระโอรสของพระองค์กลายเป็นพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 และเป็นกษัตริย์แห่งอารากอนคนแรกที่มาจากราชวงศ์บาร์เซโลนา
ราชวงศ์บาร์เซโลนา
[แก้]พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 อภิเษกสมรสกับซันชาแห่งกัสติยาในปี ค.ศ. 1174 ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันแปดคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีชีวิตรอดถึงวัยผู้ใหญ่ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1196 ผู้สืบทอดต่อตำแหน่งคือพระเจ้าเปโดรที่ 2 ผู้เป็นพระโอรสคนโต พระองค์เป็นกษัตริย์อารากอนคนแรกที่ได้รับการสวมมงกุฎจากสมเด็จพระสันตะปาปา ในปี ค.ศ. 1204 พระองค์กลายเป็นสามีคนที่สามของมารีแห่งมงต์เปลิเยร์ ทั้งคู่มีพระโอรสด้วยกันหนึ่งคนก่อนที่พระองค์จะทอดทิ้งมารี เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1213 ผู้สืบทอดต่อตำแหน่งคือพระเจ้าไฆเมที่ 1 พระโอรสที่ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อผู้พิชิตจากการขยายราชอาณาจักรออกไปอย่างมากมายในรัชสมัยของพระองค์
พระเจ้าไฆเมอภิเษกสมรสกับเลโอนอร์แห่งกัสติยา ทั้งคู่มีพระโอรสด้วยกันหนึ่งคนก่อนที่การแต่งงานจะถูกประกาศให้เป็นโมฆะ พระโอรสของทั้งคู่ต่อมาแต่งงานกับกงสต็องซ์แห่งเบียร์งแต่สิ้นพระชนม์ก่อนพระบิดาโดยไร้ซึ่งทายาท ในปี ค.ศ. 1235 กษัตริย์อภิเษกสมรสใหม่กับวิโอลันต์แห่งฮังการี ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันสิบคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีชีวิตรอดจนถึงวัยผู้ใหญ่ หลังวิโอลันต์สิ้นพระชนม์ (ไม่ทราบวัน) กษัตริย์อภิเษกสมรสใหม่กับอนุภรรยาของพระองค์ เตเรซา กิล เด บิดาอูเร พระองค์ทิ้งเตเรซาเมื่อเตเรซาเริ่มเป็นโรคเรื้อน พระเจ้าไฆเมสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1276 ผู้สืบทอดต่อตำแหน่งคือพระเจ้าเปโดรที่ 3 พระโอรสที่ยังมีชีวิตอยู่คนโต พระองค์ได้แต่งงานกับคอนสแตนซ์แห่งซิซิลี ทายาทแห่งซิซิลี ในปี ค.ศ. 1262 ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันหกคน เมื่อทรงสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1285 ผู้สืบทอดต่อตำแหน่งคือพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 3 ผู้เป็นพระโอรสคนโต พระโอรสคนที่สองของพระองค์กลายเป็นกษัตริย์แห่งซิซิลี
พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 3 ถูกจับหมั้นหมายกับเอเลนอร์แห่งอังกฤษ แต่พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1291 ก่อนการแต่งงานจะเกิดขึ้น ไฆเม พระอนุชาของพระองค์กลายเป็นกษัตริย์ทั้งในอารากอนและซิซิลี พระองค์ยอมยกซิซิลีให้พระอนุชาในปี ค.ศ. 1295 พระองค์ยังเป็นกษัตริย์แห่งซาร์ดิเนียและคอร์ซิกาหลังอ้างสิทธิ์ในอาณาเขตในปี ค.ศ. 1297
พระเจ้าไฆเมที่ 2 อภิเษกสมรสสี่ครั้งแต่การแต่งงานครั้งแรกกับอิซาเบลแห่งกัสติยาถูกประกาศให้เป็นโมฆะ พระมเหสีคนที่สอง บล็องช์แห่งอ็องฌู คือพระราชินีแห่งซาร์ดิเนียคนแรก ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันเจ็ดคน พระองค์อาจสิ้นพระชนม์จากความยากลำบากในการคลอดบุตรคนที่สิบเอ็ด พระเจ้าไฆเมอภิเษกสมรสใหม่ในปี ค.ศ. 1314 กับมารีแห่งลูซินญ็อง ทายาทแห่งไซปรัส มารีสิ้นพระชนม์ในอีกห้าปีต่อมาโดยไม่มีพระโอรสธิดา กษัตริย์อภิเษกสมรสใหม่ในปี ค.ศ. 1322 กับเอลิเซนดาแห่งมอนต์กาดา แต่ทั้งคู่ก็ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกันเช่นกัน เมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1317 ผู้สืบทอดต่ออาณาเขตทั้งหมดของพระองค์คือพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 4 ผู้เป็นพระโอรส
พระเจ้าอัลฟอนโซได้แต่งงานกับเทเรซา ด็องท็องซาในปี ค.ศ. 1314 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันเจ็ดคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีชีวิตรอดจนถึงวัยผู้ใหญ่ เทเรซาเสียชีวิตในการคลอดบุตรก่อนอัลฟอนโซจะสืบทอดต่อตำแหน่งกษัตริย์เพียงไม่กี่วัน ในปี ค.ศ. 1329 พระองค์อภิเษกสมรสใหม่กับเลโอนอร์แห่งกัสติยา ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันสองคน พระเจ้าอัลฟอนโซสิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุ 36 พรรษา และผู้สืบทอดต่อตำแหน่งคือพระเจ้าเปโดรที่ 4 พระโอรสที่ยังมีชีวิตอยู่คนโต
ในปี ค.ศ. 1338 พระเจ้าเปโดรอภิเษกสมรสกับมารีแห่งนาวาร์ ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันสองคน มารีสิ้นพระชนม์ในการคลอดบุตรและพระเจ้าเปโดรอภิเษกสมรสใหม่ในปี ค.ศ. 1347 กับเลโอนอร์แห่งโปรตุเกส แต่เลโอนอร์สิ้นพระชนม์ในอีกหนึ่งปีต่อมาด้วยโรคระบาด ในปี ค.ศ. 1349 พระองค์อภิเษกสมรสใหม่กับเอเลนอร์แห่งซิซิลีและมีพระโอรสธิดาด้วยกันสามคน เมื่อเอเลนอร์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1375 พระองค์อภิเษกสมรสใหม่ครั้งที่สี่กับซีบีลาแห่งฟอร์เตียในปี ค.ศ. 1377 ทั้งคู่มีพระธิดาที่มีชีวิตรอดหนึ่งคน เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1387 ผู้สืบทอดต่อตำแหน่งคือพระเจ้าฆวนที่ 1 พระโอรสจากการแต่งงานครั้งที่สอง
พระเจ้าฆวนได้แต่งงานกับมาร์ธแห่งอาร์มันญัคเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1373 ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันห้าคน แต่มีเพียงพระธิดาคนเดียวที่มีชีวิตอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ มาร์ธสิ้นพระชนม์ในการคลอดบุตรในปี ค.ศ. 1378 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1380 กษัตริย์อภิเษกสมรสใหม่กับยูล็องด์แห่งบาร์ ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันหกคน แต่มีเพียงพระธิดาคนเดียวที่มีชีวิตอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ เมื่อพระเจ้าฆวนสิ้นพระชนม์โดยไร้ซึ่งพระโอรส บัลลังก์ก็ตกเป็นของพระเจ้ามาร์ติงที่ 1 ผู้เป็นพระอนุชา พระธิดาทั้งสองของพระองค์พยายามอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์แต่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งคู่
พระเจ้ามาร์ติงได้แต่งงานกับมาริอา เด ลูนาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1373 ทั้งคู่มีพระโอรสที่รอดชีวิตหนึ่งคน ในปี ค.ศ. 1409 พระองค์อภิเษกสมรสใหม่กับมาร์การิตา เด เปรเดส แต่ทั้งคู่ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน พระโอรสที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงคนเดียวของพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1409 เมื่อพระเจ้ามาร์ติงสิ้นพระชนม์ การปกครองของราชวงศ์บาร์เซโลนาก็สิ้นสุดลง ในปี ค.ศ. 1412 พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 พระภาติไนยของพระองค์ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์
ราชวงศ์ตรัสตามารา
[แก้]พระเจ้าเฟร์นันโดได้แต่งงานกับเลโอนอร์แห่งอัลบูร์เกร์เกในปี ค.ศ. 1393 ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันเจ็ดคน พระเจ้าเฟร์นันโดครองราชย์ได้เพียงสี่ปี เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1416 ผู้สืบทอดต่อตำแหน่งคือพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 ผู้เป็นพระโอรส
พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 ได้แต่งงานกับมาริอาแห่งกัสติยาในปี ค.ศ. 1415 แต่ทั้งคู่ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน พระองค์มีบุตรนอกสมรสสามคนกับภรรยาลับ ในปี ค.ศ. 1421 พระราชินีโจแอนนาที่ 2 แห่งเนเปิลส์ผู้ไร้ซึ่งทายาทรับพระองค์เป็นพระโอรสบุญธรรมและประกาศชื่อพระองค์เป็นทายาทในราชอาณาจักรเนเปิลส์ พระองค์ยังได้ประกาศชื่อทายาทอีกคน แต่สุดท้ายพระเจ้าอัลฟอนโซก็ได้สืบทอดต่อเป็นกษัตริย์แห่งเนเปิลส์ในปี ค.ศ. 1442 พระองค์หาทางจนสมเด็จพระสันตะปาปายินยอมให้พระองค์ยกราชอาณาจักรเนเปิลส์ให้บุตรชายนอกสมรสที่ต่อมาคือพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 แห่งเนเปิลส์ อาณาจักรอื่นๆ รวมถึงอารากอนตกเป็นของพระโอรสคนเล็ก พระเจ้าฆวนที่ 2 ในปี ค.ศ. 1458
พระเจ้าฆวนได้แต่งงานกับอนาคตพระราชินีบล็องช์ที่ 1 แห่งนาวาร์เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1419 ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันสาม บล็องช์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1441 ส่วนพระเจ้าฆวนอภิเษกสมรสใหม่กับฆัวนา เอนรีเกในปี ค.ศ. 1458 ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันสองคน พระองค์เก็บอำนาจควบคุมราชอาณาจักรนาวาร์ไว้ในมือตลอดพระชนม์ชีพ สร้างความปั่นป่วนให้กับชาร์ลส์ พระโอรสคนโตและทายาทของพระราชินีบล็องช์ สุดท้ายเมื่อชาร์ลส์สิ้นพระชนม์ นาวาร์ก็ตกเป็นของพระธิดาคนโตของทั้งคู่ ตามด้วยพระธิดาคนเล็ก ผู้สืบทอดต่ออาณาเขตที่เป็นของพระเจ้าฆวนคือพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 พระโอรสคนโตจากการแต่งงานครั้งที่สอง
พระเจ้าเฟร์นันโดได้แต่งงานกับอนาคตพระราชินีอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา ทั้งคู่มีพระโอรสด้วยกันหนึ่งคนที่สิ้นพระชนม์ในช่วงวัยรุ่นกับพระธิดาสี่คน หลังการสิ้นพระชนม์ของพระโอรส ไม่มีความชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระเจ้าเฟร์นันโด เนื่องจากการสืบทอดตำแหน่งของผู้หญิงไม่ค่อยได้รับการยอมรับเท่าในกัสติยา พระธิดาคนโตของทั้งคู่สิ้นพระชนม์ในการคลอดบุตรชายที่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง แต่บุตรชายคนดังกล่าวก็ตายตั้งแต่อายุยังน้อย ฆัวนา พระธิดาคนที่สองของทั้งคู่แต่งงานกับอาร์ชดยุคฟิลิปแห่งออสเตรียและมีบุตรด้วยกันหกคน พระองค์สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระมารดาเมื่อพระราชินีอิซาเบลสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1504 พระเจ้าเฟร์นันโดตัดสินใจแยกราชอาณาจักรทั้งสองออกจากกันและอภิเษกสมรสใหม่กับแจร์เมนแห่งฟัวซ์ ด้วยความหวังว่าจะมีพระโอรส ทั้งคู่มีพระโอรสด้วยกันหนึ่งคนแต่สิ้นพระชนม์ไม่นานหลังคลอด เมื่อพระเจ้าเฟร์นันโดสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1516 ฟิลิปที่เสียชีวิตไปนานแล้วได้ประกาศชื่อฆัวนาเป็นผู้สืบทอดโดยมีคาร์ล พระโอรสเป็นผู้ปกครองร่วม ต่อมาฆัวนาถูกจองจำเนื่องจากสันนิษฐานว่าเสียสติ
ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค
[แก้]คาร์ลไม่เพียงสืบทอดอาณาเขตของพระมารดาแต่ยังสืบทอดอาณาเขตของพระบิดาด้วย พระองค์ยังได้รับเลือกเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในปี ค.ศ. 1519 อารากอนกับกัสติยาที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวต่อมาจะเป็นที่รู้จักในชื่อประเทศสเปน แต่อารากอนก็ได้อำนาจในรัฐสภาและองค์กรบริหารปกครองกลับคืนมาอีกครั้ง พระองค์อภิเษกสมรสกับอิซาเบลแห่งโปรตุเกสในปี ค.ศ. 1526 ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาที่มีชีวิตรอดสามคน อิซาเบลสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1539 หลังให้กำเนิดพระโอรสที่สิ้นพระชนม์ในครรภ์ จักรพรรดิไม่ได้อภิเษกสมรสใหม่ ทรงสละราชสมบัติในปี ค.ศ. 1556 ซึ่งผู้สืบทอดต่อตำแหน่งคือพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 ผู้เป็นพระโอรส
พระเจ้าเฟลิเปอภิเษกสมรสสี่ครั้ง ครั้งแรกทรงแต่งงานกับมาเรีย มานูเอลาแห่งโปรตุเกสซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องลำดับที่หนึ่ง ทั้งคู่มีพระโอรสด้วยกันหนึ่งคน มาเรีย มานูเอลาสิ้นพระชนม์หลังคลอดบุตรไม่นาน ในปี ค.ศ. 1554 พระองค์อภิเษกกับพระราชินีแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องลำดับที่หนึ่งที่อยู่ห่างกันหนึ่งขั้น แต่พระราชินีแมรีสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1558 โดยไร้ซึ่งพระโอรสธิดา ในปี ค.ศ. 1559 พระองค์อภิเษกสมรสกับอลิซาเบธแห่งวาลัวส์ ทั้งคู่มีพระธิดาที่รอดชีวิตสองคน อลิซาเบธแท้งบุตรในปี ค.ศ. 1568 และสิ้นพระชนม์หลังจากนั้นไม่นาน ในปี ค.ศ. 1570 พระองค์อภิเษกสมรสกับอันนาแห่งออสเตรียซึ่งเป็นพระธิดาของพระขนิษฐา ทั้งคู่มีพระโอรสที่มีชีวิตรอดหนึ่งคน เมื่อพระเจ้าเฟลิเปสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1598 ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์คือพระเจ้าเฟลิเปที่ 3 ผู้เป็นพระโอรส
พระเจ้าเฟลิเปอภิเษกสมรสกับมาร์กาเร็ตแห่งออสเตรียซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องลำดับที่หนึ่งที่อยู่ห่างกันหนึ่งขั้นในปี ค.ศ. 1499 ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันแปดคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีชีวิตอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ มาร์กาเร็ตสิ้นพระชนม์ไม่นานหลังการคลอดพระโอรสธิดาคนที่แปด ซึ่งเป็นพระโอรสที่สิ้นพระชนม์ก่อนวันครบรอบวันเกิดปีแรก เมื่อพระเจ้าเฟลิเปสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1621 ผู้สืบทอดต่อตำแหน่งคือพระเจ้าเฟลิเปที่ 4 ผู้เป็นพระโอรสคนโต
พระเจ้าเฟลิเปอภิเษกสมรสกับอลิซาเบธแห่งฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1615 ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันแปดคน ซึ่งมีหกคนที่สิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก พระโอรสคนเดียวของทั้งคู่สิ้นพระชนม์ตอนพระชนมายุ 16 พรรษา อลิซาเบธสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1644 ส่วนพระเจ้าเฟลิเปอภิเษกสมรสใหม่กับมาเรีย อันนาแห่งออสเตรียซึ่งเป็นพระธิดาของพระขนิษฐา ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาห้าคน ซึ่งมีเพียงสองคนที่มีชีวิตอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1665 ผู้สืบทอดต่อตำแหน่งคือพระเจ้าการ์โลสที่ 2 ผู้เป็นพระโอรส
พระเจ้าการ์โลสมีความบกพร่องทางจิตและทางร่างกายด้วยมีการแต่งงานในสายเลือดเดียวกันหลายครั้ง แม้จะอภิเษกสมรสสองครั้ง กับมารี หลุยส์ เดออร์ลีย็องส์กับมาเรีย อันนาแห่งนอยบวร์ก แต่พระองค์ไม่มีพระโอรสธิดา นำไปสู่วิกฤตการสืบทอดบัลลังก์ ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์คือพระเจ้าเฟลิเปที่ 5 ซึ่งเป็นพระนัดดาคนเล็กของมาริอา เตเรซาแห่งสเปน พระโอรสธิดาคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ของพระเจ้าเฟลิเปที่ 4 กับอลิซาเบธแห่งฝรั่งเศส
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 669
- ↑ Reilly, Bernard F. (1992). The contest of Christian and Muslim Spain: 1031-1157 (in English) . Blackwell, p. 105
- ↑ CAI Tourism of Aragon. Retrieved 2010-03-05
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Reilly, Bernard F. (1992). The contest of Christian and Muslim Spain: 1031-1157 (in English) . Blackwell, p. 106
- ↑ Antonio Ubieto, Creación y desarrollo de la Corona de Aragón, Anubar, Zaragoza, 1987, pp. 58–59. ISBN 84-7013-227-X
- ↑ 6.0 6.1 Reilly, Bernard F. (1992). The contest of Christian and Muslim Spain: 1031-1157 (in English) . Blackwell, p. 107
- ↑ Reilly, Bernard F. (1992). The contest of Christian and Muslim Spain: 1031-1157 (in English) . Blackwell, p. 107, 109.
- ↑ Reilly, Bernard F. (1992). The contest of Christian and Muslim Spain: 1031-1157 (in English) . Blackwell, p.112.
- ↑ Reilly, Bernard F. (1992). The contest of Christian and Muslim Spain: 1031-1157 (in English) . Blackwell, p.112-113.
- ↑ Reilly, Bernard F. (1992). The contest of Christian and Muslim Spain: 1031-1157 (in English) . Blackwell, p.115.
- ↑ I. Ruiz Rodríguez, Apuntes de historia del derecho y de las instituciones españolas, Dykinson, Madrid, 2005, p. 179. (In Spanish)
- ↑ 12.0 12.1 Albareda Salvadó, Joaquim (2010). La Guerra de Sucesión de España (1700-1714). Barcelona: Crítica. pp. 228–229. ISBN 978-84-9892-060-4.