ข้ามไปเนื้อหา

อีนีอิด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ต้นฉบับ อีนีอิด ราวปี ค.ศ. 1470 ภาพประกอบโดยคริสโตโฟโร มาโยรานา
แผนที่การเดินทางของอีเนียส

อีนีอิด (อังกฤษ: Aeneid, ละติน: Aeneis) เป็นบทกวีมหากาพย์ภาษาละตินที่เขียนโดยเวอร์จิล ระหว่าง 29–19 ปีก่อนคริสตกาล[1] บอกเล่าเรื่องราวของอีเนียส เจ้าชายแห่งกรุงทรอยผู้เดินทางลี้ภัยไปยังดินแดนอิตาลีและกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวโรมัน เวอร์จิลประพันธ์มหากาพย์นี้ขึ้นในช่วงเวลาที่สังคมการเมืองโรมันผันผวนจากสงครามครั้งสุดท้ายของสาธารณรัฐโรมัน และตั้งใจให้เป็นตำนานการถือกำเนิดและมหากาพย์ประจำชนชาติโรมัน แต่เมื่อเวอร์จิลเสียชีวิตเมื่อ 19 ปีก่อนคริสตกาล เขายังประพันธ์ อีนีอิด ไม่เสร็จสมบูรณ์ดีและสั่งเสียให้เผาต้นฉบับทิ้ง อย่างไรก็ตาม จักรพรรดิเอากุสตุสมีรับสั่งให้ตีพิมพ์มหากาพย์นี้โดยให้มีการแก้ไขให้น้อยที่สุด[2] จึงมีนักวิชาการบางส่วนเสนอว่าจักรพรรดิเอากุสตุสอาจใช้มหากาพย์นี้ในการเสริมสร้าง "ความยิ่งใหญ่ของโรม" ในรัชกาลของพระองค์ และสร้างความชอบธรรมในการปกครองให้แก่ราชวงศ์ยูลิอุส-เกลาดิอุส[3]

บทกวี อีนีอิด ประพันธ์ด้วยฉันทลักษณ์มาตราหกคณะแด็กทิล (dactylic hexameter) มีความยาวทั้งสิ้น 9,896 บาท สามารถแบ่งออกได้เป็น 12 บท โดย 6 บทแรกมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางของอีเนียสจากกรุงทรอยไปยังอิตาลี ส่วน 6 บทหลังเป็นเรื่องราวชัยชนะของอีเนียสเหนือชาวละติน อันเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ที่กรุงโรม มีการยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการแบ่งเนื้อหาเช่นนี้เป็นความพยายามของเวอร์จิลในการทำให้ อีนีอิด มีความทัดเทียมกับสองมหากาพย์ของโฮเมอร์ คือมีการเดินทางร่อนเร่แบบ โอดิสซีย์ และการสู้รบแบบ อีเลียด[4] เรื่องราวของ อีนีอิด เริ่มตอนกลางเรื่องแบบเดียวกับโฮเมอร์เมื่ออีเนียสนำกองเรือทรอยเดินทางไปที่ดินแดนอิตาลีตามคำทำนายที่ได้รับ แต่ระหว่างทางถูกเทพเจ้าขัดขวางจนต้องหลบเข้าฝั่งแอฟริกาและพบกับราชินีไดโดแห่งคาร์เธจ ซึ่งอีเนียสได้เล่าเหตุการณ์ให้พระนางฟังว่าเมืองของตนถูกชาวกรีกตีแตกจึงต้องอพยพผู้คนเดินทางระหกระเหินไปตามเมืองในเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกก่อนจะมาขึ้นฝั่งที่นี่ ระหว่างที่อาศัยอยู่ที่คาร์เธจ อีเนียสและไดโดตกหลุมรักกัน แต่เทพเจ้ามาเตือนอีเนียสถึงคำทำนายทำให้อีเนียสต้องจำยอมเดินทางต่อ เมื่อไดโดทราบเรื่องพระนางเสียใจมากและผูกพยาบาทกับอีเนียสก่อนตัดสินใจฆ่าตัวตาย (ความพยาบาทดังกล่าวปรากฏต่อมาในรูปสงครามพิวนิก ระหว่างชาวโรมันกับชาวคาร์เธจ)[5] จากนั้นอีเนียสเดินทางลงไปยมโลกตามคำแนะนำของเทพยากรณ์เพื่อพบกับวิญญาณของแอนไคซีส บิดาของตนผู้บอกเล่าอนาคตของโรม ต่อมาอีเนียสนำชาวทรอยมาตั้งรกรากที่ลาติอุมและปะทะกับเทอร์นัส กษัตริย์ของชาวรูทูลีจนนำไปสู่การดวลกันตัวต่อตัวระหว่างอีเนียสกับเทอร์นัส บทกวีจบลงเมื่ออีเนียสสังหารเทอร์นัสได้สำเร็จ

บทกวี อีนีอิด ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของเวอร์จิล[6] และเป็นหนึ่งในผลงานสำคัญของวรรณกรรมละติน[7] แก่นของเรื่องประกอบไปด้วยความขัดแย้ง โดยเริ่มต้นด้วยสงครามกรุงทรอย นำพาให้อีเนียสลี้ภัยไปที่คาร์เธจ ซึ่งการพรากจากราชินีไดโดทำให้พระนางสาปแช่งอีเนียส นำไปสู่ความขัดแย้งของชาวโรมันกับชาวคาร์เธจในเวลาต่อมา ก่อนจะจบลงด้วยสงครามระหว่างอีเนียสกับเทอร์นัส[8], pietas หรือการอุทิศตนเพื่อบรรลุเป้าหมาย อันเป็นคุณธรรมสำคัญของโรมโบราณ[9] และ fatum หรือชะตาซึ่งมนุษย์และเทพเจ้าไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ถึงแม้ว่าเหล่าเทพเจ้าจะพยายามแทรกแซงก็ตาม[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Magill, Frank N. (2003). The Ancient World: Dictionary of World Biography, Volume 1. Routledge. p. 226. ISBN 1135457409.
  2. Sellar, William Young; Glover, Terrot Reaveley (1911). "Virgil". Encyclopædia Britannica. Vol. 28 (11th ed.). p. 112. สืบค้นเมื่อ 7 June 2012.
  3. Woodman, Anthony John; Woodman, Tony J.; West, David (1984). Poetry and Politics in the Age of Augustus. Cambridge, England, United Kingdom: CUP Archive. p. 180. ISBN 9780521245531.
  4. E.G. Knauer, "Vergil's Aeneid and Homer", Greek, Roman, and Byzantine Studies 5 (1964) 61–84. Originating in Servius's observation, tufts.edu
  5. Publius Vergilius Maro (2006). The Aeneid, translated by Robert Fagles, introduction by Bernard Knox (deluxe ed.). New York, New York 10014, U.S.A.: Viking Penguin. p. 26. ISBN 978-0-14-310513-8.{{cite book}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  6. "History of Latin Literature". HistoryWorld. สืบค้นเมื่อ December 5, 2016.
  7. Damen, Mark (2004). "Chapter 11: Vergil and The Aeneid". สืบค้นเมื่อ December 5, 2016.
  8. "Aeneid". Encyclopedia.com. สืบค้นเมื่อ July 10, 2020.
  9. Abad, Gemino (2003). "Virgils Aeneas: The Roman Ideal of Pietas". Singapore Management University. สืบค้นเมื่อ July 10, 2020.
  10. Fitzgerald, Robert, translator and postscript. "Virgil's The Aeneid". New York: Vintage Books (1990). 415.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy