ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าทิพเกสร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าเทพไกรสร
ภรรยาพระเจ้านครเชียงใหม่
ดำรงพระยศพ.ศ. 2416–2427
ก่อนหน้าเจ้าอุษา
ถัดไปเจ้าทิพเนตร
เกิดพ.ศ. 2384
อสัญกรรม25 มิถุนายน พ.ศ. 2427[1] (43 ปี)
พระสวามีพระเจ้าอินทวิชยานนท์
พระธิดาเจ้าจันทรโสภา
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา
ราชวงศ์ทิพย์จักร
ราชสกุลณ เชียงใหม่
พระบิดาพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
พระมารดาเจ้าอุษา
ศาสนาพุทธ

เจ้าเทพไกรสร[2][3] บ้างว่า เจ้าทิพเกสร หรือ เจ้าทิพเกษร[4] (พ.ศ. 2384—2427) เป็นพระธิดาในพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่ ประสูติแต่เจ้าอุษา เป็นพระชายาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่องค์ต่อมา และเป็นพระมารดาในเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม[5]

พระนางมีพระนิสัยเฉียบขาดเยี่ยงพระบิดา ทรงเป็นราชนารีที่มีบทบาทด้านการปกครองที่โดดเด่น เคียงคู่กับพระขนิษฐาคือเจ้าอุบลวรรณา ที่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจอันโดดเด่น[4] ทั้งยังมีความสามารถในการว่าราชการบ้านเมืองแทนพระสวามี[6]

พระประวัติ

[แก้]

ชีวิตตอนต้น

[แก้]

เจ้าเทพไกรสรเกิดปี พ.ศ. 2384[7] เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ในพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 กับเจ้าอุษา มีขนิษฐาร่วมอุทรหนึ่งพระองค์ คือ เจ้าอุบลวรรณา[8]

เสกสมรส

[แก้]

แต่เดิมเจ้าเทพไกรสรเป็นพระธิดาในพระเจ้ากาวิโลรสที่ทรงครองโสดอยู่ผู้เดียว เนื่องจากเจ้าอุบลวรรณา พระขนิษฐาได้เสกสมรสไปแล้วก่อนหน้า ต่อมาเมื่อถึงวันงานแห่ครัวทาน พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ผู้บิดา ได้รับสั่งเจ้าเทพไกรสร ว่า "เจ้าเห็นชายคนไหนดีพอจะเป็นคู่กับเจ้า ก็จงเลือกเอาตามแต่จะเห็นว่าเหมาะควร" และเมื่อเจ้าเทพไกรสรทอดพระเนตรเจ้าอินทนนท์ก็ทรงชื่นชมในท่าฟ้อนนำแห่ครัวทานกับแต่งกายตามประเพณีอย่างสวยงาม จึงทูลตอบพระบิดาว่า "ลูกดูแล้ว เห็นแต่เจ้าราชวงศ์อินทนนท์ คนเดียวเท่านั้นเจ้า ที่น่าจะเป็นผู้ใหญ่ครอบครองบ้านเมืองต่อไปได้" เมื่อเจ้ากาวิโลรสสดับความเช่นนั้นจึงส่งท้าวพญาผู้ใหญ่ไปติดต่อ[9]

แต่ขณะนั้นเจ้าอินทนนท์เองก็มีหม่อมและพระบุตรอยู่หลายคนจึงได้ปฏิเสธไป แต่พระเจ้ากาวิโลรสมีรับสั่งให้ท้าวพญานิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ไปเจรจาบิณฑบาตให้เจ้าอินทนนท์ยอมตกลงปลงใจ คราวนี้เจ้าอินทนนท์ปฏิเสธไม่ได้จึงยอมรับแต่โดยดี เจ้าเทพไกรสรเองก็จัดขันคำส่งให้ข้าหลวงอัญเชิญมาขอสามีจากหม่อมบัวเขียวเชิงบังคับให้ตัดขาดจากความเป็นสามีภรรยากับเจ้าอินทนนท์นับแต่นี้เป็นต้นไป[9] พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ประทานคุ้มท่าที่บ้านเจดีย์กิ่วนี้เป็นเรือนหอของทั้งสอง ภายหลังได้ตกเป็นมรดกของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา[10]

ทั้งสองมีพระธิดาสององค์ คือ เจ้าจันทรโสภา และเจ้าดารารัศมี ที่ต่อมาได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพมหานคร[11]

บั้นปลาย

[แก้]

ในช่วงที่เจ้าเทพไกรสรทรงประชวร ช่วงนั้นได้มีการพิจารณาการผูกขาดต้มเหล้าของชาวจีน เจ้าอุบลวรรณาพระขนิษฐาจึงใช้โอกาสนี้จัดการเข้าทรง โดยรับเป็น "ม้าขี่" หรือร่างทรง เมื่อวิญญาณที่มาเข้าร่างทรงได้แสดงความไม่พอใจอย่างมากที่จะอนุญาตให้คนจีนผูกขาดการต้มเหล้า ทั้งยังได้ขู่สำทับด้วยว่า หากมีการอนุญาตจะเกิดเหตุใหญ่ร้ายแรงกว่านี้ และการที่เจ้าเทพไกรสรเจ็บป่วยครั้งนี้เป็นเพียงการสั่งสอนเท่านั้น ภายหลังจึงได้มีการล้มเลิกการผูกขาดการต้มเหล้าไป[12][13][14]

เจ้าเทพไกรสรถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2427[11] ขณะที่เจ้าดารารัศมี พระธิดา มีชันษาเพียง 11 ปี เจ้าดารารัศมีจึงตกอยู่ในพระอุปการะของเจ้าอุบลวรรณา[12] และสองปีหลังจากนี้เจ้าดารารัศมีก็ได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายในที่กรุงเทพมหานคร[11]

พระกรณียกิจ

[แก้]

เจ้าเทพไกรสรเป็นพระชายาในพระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่มีความเฉลียวฉลาดหลักแหลม รอบรู้ในด้านราชการ[15] เป็นที่ทราบกันว่า "สรรพราชการงานเมืองอยู่กับเจ้าเทพไกรษรนี้ผู้เดียวเด็ดขาด ตลอดเหมือนเปนพระเจ้าเชียงใหม่"[1] และมีพระอำนาจเหนือพระสวามี มีหลักฐานของชาวต่างประเทศกล่าวถึงพระเจ้าอินทวิชยานนท์ว่า "เป็นผู้ที่มีใจเมตตากรุณา แต่อ่อนแอ"[16] และ "...เจ้าหลวงถูกครอบงำโดยพระชายาผู้ที่ดูเหมือนจะเป็นคนที่จิตใจเข้มแข็งทดแทนความอ่อนแอของพระองค์..."[17] ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองจึงเรียกพระเจ้าอินทวิชยานนท์ว่า "เจ้าหลวงตาขาว"[18] บทบาทด้านการบริหารบ้านเมืองจึงตกอยู่กับเจ้าอุปราช (บุญทวงศ์) และเจ้าเทพไกรสร พระชายา และมีบทบาทเรื่อยมาจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2425 และ พ.ศ. 2427 ตามลำดับ[2]

ดร. แดเนียล แมคกิลวารี หัวหน้าคณะมิชชันนารีชาวอเมริกัน ซึ่งได้เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในปลายสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการสนทนากับเจ้าเทพไกรสร ความว่า "ท่านเป็นพระชายาองค์เดียวของเจ้าหลวงอินทนนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ โดยกำเนิดท่านมีฐานันดรศักดิ์ที่สูงกว่าเจ้าหลวง และท่านก็ทรงคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งอันสูงส่งที่ท่านดำรงอยู่ในขณะนี้ทุกประการ ทั้งยังเป็นผู้มีปฏิภาณเฉียบแหลม และตั้งใจมั่นคง ซึ่งเป็นเหตุให้พระสวามีของท่านคือ เจ้าหลวงองค์ใหม่ หลีกเลี่ยงความบกพร่องและความผิดพลาดได้เป็นอันมาก… ในการสนทนาระหว่างข้าพเจ้ากับเจ้าหญิงนั้น เรามักจะวกมาถึงเรื่องศาสนาเกือบตลอดเวลา แต่ข้าพเจ้า รู้สึกว่าเจ้าหญิงมีความประสงค์จะเอาชนะในการโต้ตอบเรื่องศาสนานี้มากกว่าจะค้นเอาความจริง ท่านมีไหวพริบเหมือนหมอความ คอยจับคำพูดที่หละหลวม และด้วยสติปัญญาอันเฉียบแหลมของท่าน ทำให้ท่านเป็นนักโต้คารมที่มีอารมณ์ครื้นเครง"[11] และ "...อิทธิพลของสตรีในทางวิเทโศบายต่าง ๆ จงเพิ่มทวีขึ้นอย่างมากมายมาตั้งแต่ครั้งเจ้าหลวงองค์ก่อน [พระเจ้ากาวิโลรส] ยังทรงครองราชย์อยู่ ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ไม่มีพระโอรส จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่พระธิดากลายเป็นผู้มีอำนาจและยังได้รับการฝึกฝนให้เข้าใจถึงงานต่าง ๆ ของรัฐด้วย...โดยกำเนิดแล้ว พระนางมียศสูงกว่าพระสวามี...ฐานะของพระนางจึงจำเป็นต่อการคานอำนาจกับองค์อุปราช [บุญทวงศ์]..."[19] เมื่อรัฐบาลสยามส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรขึ้นเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2426 เพื่อวางแผนจัดราชการและระเบียบการปกครองนครเชียงใหม่ร่วมกับเจ้าเทพไกรสร แต่เจ้าเทพไกรสรกลับล้มป่วยและถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน[1]

เจ้าเทพไกรสรเป็นราชนารีที่มีความโดดเด่นในเรื่องความเข้มแข็ง ดังปรากฏว่าเมื่อครั้งที่เกิดกบฏพระยาปราบสงคราม ทรงไม่เห็นด้วยและแสดงความไม่พอพระทัย จึงสั่งให้จับพระยาปราบมาประหารชีวิตเสีย ทำให้พวกพระยาปราบเกรงกลัวและแตกหนีไป[11] และอีกกรณีที่เจ้าเทพไกรสรได้บัญชาให้ประหารชีวิตพระญาติสาย "ณ ลำพูน" ที่กระทำการอุกอาจแทงช้างพระที่นั่งพระสวามีของพระองค์ด้วยความคะนอง[20] และยังเคยติดตามพระเจ้าอินทวิชยานนท์เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายครั้ง[6]

นอกจากด้านการปกครองแล้ว เจ้าเทพไกรสรยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการละครฟ้อนรำและเครื่องสายตามแบบอย่างราชสำนักกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นแห่งแรกในคุ้มของพระเจ้าอินทวิชยานนท์[11]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 วรชาติ มีชูบท. ย้อนรอยอดีตล้านนา ตอน รวมเรื่องน่ารู้จากแผนที่เมืองนครเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560, หน้า 162
  2. 2.0 2.1 สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552. หน้า 352-353
  3. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ลายคำ, 2552, หน้า 344
  4. 4.0 4.1 ภูเดช แสนสา. "คติแนวคิดและพัฒนาการของการก่อ "กู่" อัฐิในล้านนา ธรรมเนียมจาก "ราช" สู่ "ราษฎร์"" (PDF). เวียงท่ากาน. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. ภูเดช แสนสา. "การก่อกู่เจ้านาย กับกุศโลบายทางการเมืองของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี" (PDF). เวียงท่ากาน. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  6. 6.0 6.1 "แม่เจ้าทิพเกสร สตรีผู้เปี่ยมด้วยความเด็ดขาดแห่งล้านนา". เชียงใหม่สู่มรดกโลก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-25. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์. (20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555). "เจ้าอุบลวรรณา เมื่อคิดจะรัก ต้องกล้าหักด่านฐานันดร". มติชนสุดสัปดาห์. 32:1666, หน้า 76
  8. หนังสือประวัติพระเจ้านครเชียงใหม่แลเจ้าเชียงใหม่. เชียงใหม่ : บำรุงเจริญประเทศ บ้านฮ่อ นครเชียงใหม่. มมป., หน้า 9
  9. 9.0 9.1 "แม่เจ้าบัวเขียว". วัดศรีนวรัฐ (ทุ่งเสี้ยว). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-09. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. วรชาติ มีชูบท. ย้อนรอยอดีตล้านนา ตอน รวมเรื่องน่ารู้จากแผนที่เมืองนครเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560, หน้า 192-195
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 "แม่เจ้าทิพเกสร (เทพไกรสร) ผู้ฉลาดหลักแหลม และมีปฏิภาณเป็นเลิศ". แม่ญิงล้านนา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-09. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. 12.0 12.1 "เจ้าอุบลวรรณา". เชียงใหม่ไทยแลนด์ดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. "บุคคลสำคัญ: เจ้าอุบลวรรณา". เชียงใหม่ไทยแลนด์ดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. "เจ้าอุบลวรรณา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2013-10-27.
  15. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552. หน้า 341
  16. คาร์ล บอค (เขียน) เสฐียร พันธรังสี และอัมพร จุลานนท์ (แปล). สมัยพระปิยมหาราช. พระนคร : เฟื่องนคร. 2505, หน้า 307-308
  17. Carl Bock. Temple and Elephants. Bangkok:White Orchid Press. 1985, p. 226
  18. "พระเจ้าอินทวิชยานนท์" (PDF). หอสมุดมหาวิทยาลัยพายัพ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  19. เดเนียล แมคกิลวารี ดี.ดี (เขียน) จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล (แปล). กึ่งศตวรรษในหมู่คนไทย และคนลาว. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน. 2544, หน้า 163-164
  20. "รายพระนาม นาม เหล่าพระประยูรญาติ และ เชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-14. สืบค้นเมื่อ 2012-09-20.
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy