ข้ามไปเนื้อหา

แมงป่องช้าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Heterometrus)
แมงป่องช้าง
Heterometrus laoticus ที่พบในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ชั้น: Arachnida
อันดับ: Scorpiones
วงศ์: Scorpionidae
วงศ์ย่อย: Scorpioninae
สกุล: Heterometrus
Ehrenberg, 1828
ชนิดต้นแบบ
Buthus (Heterometrus) spinifer
Ehrenberg, 1828[1]
ชนิด

ประมาณ 33 ชนิด (ดูในเนื้อหา)

ชื่อพ้อง[2]
  • Palamnaeus Thorell, 1876
  • Heterometrus (Chersonesometrus) Couzijn, 1978
  • Heterometrus (Gigantometrus) Couzijn, 1978
  • Heterometrus (Javanimetrus) Couzijn, 1981
  • Heterometrus (Srilankametrus) Couzijn, 1981

แมงป่องช้าง เป็นแมงป่องที่อยู่ในสกุล Heterometrus ในวงศ์ Scorpionidae

ลักษณะ

[แก้]

มีลักษณะเด่น คือ ลำตัวใหญ่ มีสีเข้ม เช่น สีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำ มีก้ามขนาดใหญ่ แลดูน่าเกรงขาม มีลำตัวเรียว มีขาจำนวน 4 คู่ มีส่วนหัวและอกอยู่รวมกัน มีตาบนหัวหนึ่งคู่ และตาข้างอีก 3 คู่ตรงกลางหลัง และขอบข้างส่วนหน้า ตรงปากมีก้ามขนาดเล็ก ๆ อีก 1 คู่ ส่วนถัดมาเป็นปล้อง ประกอบด้วยปล้อง 7 ปล้อง ซึ่งปล้องที่ 3 มีอวัยวะสำคัญคือ ช่องสืบพันธุ์ และมีอวัยวะพิเศษ 1 คู่ มีรูปร่างคล้ายหวี ทำหน้าที่รับความรู้สึกจากการสั่นของพื้นดิน ส่วนสุดท้ายคือส่วนหางเรียวยาว ประกอบด้วยปล้อง 5 ปล้องกับปล้องสุดท้าย คือ ปล้องพิษ มีลักษณะพองกลมปลายเรียวแหลม คล้ายรูปหยดน้ำกลับหัว บรรจุต่อมพิษ มีเข็มที่ใช้ต่อย คือ เหล็กใน สำหรับฉีดพิษ เพื่อล่าเหยื่อและป้องกันตัว

แมงป่องช้าง พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนในหลายพื้นที่ในทวีปเอเชีย เช่น กัมพูชา, ลาว, ไทย, เวียตนาม, อินเดีย, ศรีลังกา, เนปาล, จีน และธิเบต[2][3] จนถึงมาเลเซีย, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย[4] โดยมักจะหลบซ่อนในที่ ๆ ไม่มีแสงสว่าง ปราศจากการรบกวน เช่น ใต้ก้อนหิน, ท่อนไม้ หรือใต้ใบไม้ เป็นต้น ออกหากินในเวลากลางคืน ชอบอุณหภูมิแบบร้อนชื้นประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส[5]

แมงป่องช้างเป็นสัตว์ดุ[6] กินอาหาร ได้แก่ พวกสัตว์ตัวเล็ก ๆ เช่น แมงมุม, บึ้ง, กิ้งกือ, หนอน และแมลงอื่น ๆ โดยจะกินขณะที่เหยื่อยังไม่ตาย แมงป่องช้างจะใช้ก้ามจับเหยื่อก่อนแล้วใช้หางที่มีเหล็กในต่อยเหยื่ออย่างรวดเร็วซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จนกระทั่งเหยื่อตายแมงป่องจึงจะใช้ก้ามเล็ก ๆ 1 คู่ ตัดอาหารออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนที่จะกิน รวมถึงกินพวกเดียวกันเองด้วย แมงป่องช้างตัวเมียจะกินตัวผู้หลังผสมพันธุ์เสร็จ[6]

แมงป่องช้าง แม้จะมีลำตัวขนาดใหญ่ น่าเกรงขาม แต่ทว่าพิษกลับไม่สามารถทำอันตรายมนุษย์ให้ถึงแก่ชีวิตได้[4] หลังการผสมพันธุ์แมงป่องช้างตัวเมียจะตั้งท้อง โดยจะมีการขยายตัวของกล้ามเนื้อที่ยึดระหว่างปล้องที่ 3 ถึงปล้องที่ 7 แม่แมงป่องช้างจะตั้งท้องนานประมาณ 7 เดือนถึง 1 ปี จากนั้นจะออกลูกออกมาเป็นตัวในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ช่วงฤดูฝนที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์

วงจรชีวิต

[แก้]

แมงป่องช้างตัวผู้จะมีลักษณะเรียว หางยาวและก้ามใหญ่ แถบข้างลำตัวสีขาวอมเทา เมื่อถูกบุกรุกจะชูก้าม ชูหางข่มคู่ต่อสู้ ส่วนตัวเมียส่วนท้องจะอ้วนและโตกว่า แถบข้างลำตัวสีขาวอมเทา [5]

ก่อนตกลูก แม่แมงป่องจะซ่อนตัวในที่ปลอดภัย ลูกแมงป่องเกิดใหม่จะคลานไปมาบริเวณใต้ท้องแม่ ส่วนแม่แมงป่องจะงอขาคู่แรกรองรับลูกบางตัวเอาไว้ และกางอวัยวะคล้ายหวี ออกเต็มที่เพื่อให้ช่องสืบพันธุ์อยู่พ้นจากพื้นดินให้มากที่สุด หากอวัยวะคล้ายหวีส่วนนั้นสัมผัสพื้นจะไม่ยอมคลอด เพราะลูกอาจมีอันตราย

แมงป่องช้างตกลูกครั้งละประมาณ 7–28 ตัว ด้วยอัตราประมาณ 1 ตัว/1 ชั่วโมง ดังนั้นแม่แมงป่องจึงใช้เวลาตกลูกแต่ละครอกนานมาก ตั้งแต่ 12–24 ชั่วโมง ลูกแมงป่องเกิดใหม่จะปีนขึ้นไปเกาะกลุ่มเป็นก้อนสีขาวยั้วเยี้ยบนหลังแม่แมงป่อง ซึ่งระยะนี้แม่แมงป่องจะกินอาหารและน้ำน้อยมาก และไม่เคลื่อนย้ายไปไหนหากไม่จำเป็น เพราะต้องคอยระวังภัยให้ลูก ส่วนลูกแมงป่องจะอยู่บนหลังแม่นานถึงสองสัปดาห์โดยไม่กินน้ำและอาหารเลย

ลูกแมงป่องช้างแรกเกิดมีสีขาวล้วน ยกเว้นตาที่เป็นจุดดำสองจุด ตามลำตัวอาจมีจุดสีดำหรือน้ำตาล ตัวอ่อนนุ่มนิ่ม อ้วนกลมเป็นปล้อง ๆ ส่วนหางสั้น ลำตัวเมื่อยืดหางออกเต็มที่ยาว 1.3 เซนติเมตร และหนัก 0.2 กรัม ในสามวันแรกลักษณะภายนอกไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด ส่วนใหญ่ลูกแมงป่องจะเกาะกลุ่มกันอยู่นิ่ง ๆ กระทั่งหลังวันที่ 5 สีของลูกแมงป่องช้างจะเข้มขึ้น จากสีขาวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เมื่ออายุ 7 วัน ลูกแมงป่องช้างมีขนาด 1.7 เซนติเมตร หนัก 0.18 กรัม เคลื่อนไหวมากขึ้น และอาจไต่ไปมาบนหลังแม่

ในช่วงที่อยู่บนหลังแม่นี้ ลูกแมงป่องช้างได้พลังงานและน้ำจากการสลายไขมันที่สะสมอยู่ในลำตัวที่อ้วนกลม จึงทำให้น้ำหนักตัวลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่แรกเกิดกระทั่งถึงระยะนี้ และไม่พบการเรืองแสง

ลูกแมงป่องช้างจะลอกคราบครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 11 วัน หลังลอกคราบลักษณะภายนอกจะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน จากลำตัวอวบอ้วนสีขาวเปลี่ยนเป็นลำตัวผอมเพรียวสีน้ำตาลเข้ม เริ่มเคลื่อนไหวรวดเร็ว ลูกแมงป่องบางตัวจะขึ้น ๆ ลง ๆ จากหลังแม่ และเริ่มสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ยังคงไม่กินอะไรทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดคือเริ่มมีการเรืองแสงตามก้ามและขา ยกเว้นส่วนหลังและท้อง กระทั่งเข้าสู่วันที่ 14 แม้สีของลูกแมงป่องไม่ต่างจากตอนลอกคราบใหม่ ๆ นัก แต่กลับพบว่ามีการเรืองแสงเพิ่มมากขึ้น เมื่อลูกแมงป่องมีอายุประมาณ 15 วัน จะลงจากหลังแม่จนหมด และมีการเรืองแสงทั่วทั้งตัว ลำตัวยาว 2.7 เซนติเมตร น้ำหนัก 0.14 กรัม พร้อมแสดงท่าทางการยกหาง

หลังจากนี้เป็นต้นไป สีผิวของลูกแมงป่องจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น จะเคลื่อนไหวรวดเร็ว และชอบซุกตัวอยู่ตามซอกหิน ใต้ใบไม้ ลูก ๆ ที่เป็นอิสระจากแม่แล้วจะยังคงอาศัยอยู่ร่วมกันกับแม่ เนื่องจากยังล่าเหยื่อไม่ได้ก็จะคอยกินเศษอาหารที่เหลือจากแม่ จนกว่าจะสามารถล่าเหยื่อเองได้จึงจะแยกไปอยู่ตามลำพัง ลูกแมงป่องช้างเจริญเติบโตช้ามาก อายุ 1 เดือนมีขนาดราว 3.3 เซนติเมตร หนัก 0.32 กรัม อายุ 1 ปี มีขนาดราว 6 เซนติเมตร และหนักราว 2 กรัม ต้องใช้เวลาอีกนานนับปีและลอกคราบอีกหลายครั้งจึงจะโตเป็นตัวเต็มวัย โดยทั่วไปแมงป่องช้างจะมีอายุราว 3–5 ปี[7]

และบางครั้งหลังการผสมพันธุ์และคลอดลูก แมงป่องช้างตัวเมียจะจับตัวผู้หรือลูก ๆ กินเป็นอาหาร[5]

ความสำคัญ

[แก้]

แมงป่องช้าง เป็นสัตว์ที่บางพื้นที่นิยมจับมากินเป็นอาหาร โดยให้โปรตีนเช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ ปัจจุบันมีบางพื้นที่นิยมเพาะเลี้ยงกันในบ่อปูนซีเมนต์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อการบริโภค มีราคาซื้อขายกันในราคาที่สูง อีกทั้งบางเชื้อชาติ เช่น ชาวจีน, ชาวญี่ปุ่น เชื่อว่าอาจรับประทานแมงป่องช้างแล้ว มีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง[7] โดยการเลี้ยงเพื่อการบริโภคใช้เวลาประมาณ 8–12 เดือน หรือ 1 ปี[8] รวมถึงมีผู้นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินเช่นเดียวกับ บึ้ง ด้วย [5][4] ซึ่งแมงป่องช้างที่เพาะเลี้ยงออกมาซึ่งการเลี้ยงจะใช้เวลานานกว่าแบบที่เพาะเลี้ยงเพื่อการบริโภค[8]

การจำแนก

[แก้]

จำแนกได้ประมาณ 33 ชนิด (พบในประเทศไทย 6 ชนิด[9]) ได้แก่

อ้างอิง

[แก้]
  1. Karsch, F. (1879). "Skorpionologische Beiträge I.". Mitteilungen des Münchener Entomologischen Vereins (ภาษาเยอรมัน). 3: 6–22.
  2. 2.0 2.1 Kovařík, F. (2004). "A review of the genus Heterometrus Ehrenberg, 1828, with descriptions of seven new species (Scorpiones, Scorpionidae)" (PDF). Euscorpius. 15: 1–60.
  3. Lourenço, W.O.; Qi, J.-X.; Zhu, M.-S. (2005). "Description of two new species of scorpion from China (Tibet) belonging to the genera Mesobuthus Vachon (Buthidae) and Heterometrus Ehrenberg (Scorpionidae)" (PDF). Zootaxa. 985: 1–16.
  4. 4.0 4.1 4.2 พิสุทธิ์ เอกอำนวย, คู่มือคนรักแมลง 2 การเลี้ยงด้วง (มีนาคม พ.ศ. 2552). หน้าที่ 254. 255 หน้า ISBN 978-974-660-832-9.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "'แมงป่องช้าง'ลงทุนน้อย-ตลาดรับไม่อั้น". คมชัดลึก. 24 พฤษภาคม 2013.
  6. 6.0 6.1 เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย : แมงป่องช้าง. ช่อง 7. 1 กันยายน 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2015. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2015.
  7. 7.0 7.1 แมลงและแมงกินได้ที่พบมากในเดือนกุมภาพันธ์. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
  8. 8.0 8.1 สารคดีเกษตร : เปิดพิสดาร “แมงป่องช้างทอด”. ช่อง 7. 1 กันยายน 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Flash)เมื่อ 1 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2015.
  9. "Species : Heterometrus laoticus". siamensis.org. 4 ตุลาคม 2011.
  10. Manny Rubio (2000). "Commonly Available Scorpions". Scorpions: Everything About Purchase, Care, Feeding, and Housing. Barron's Educational Series. pp. 26–27. ISBN 978-0-7641-1224-9. The emperor scorpion can reach an overall length of more than 8 inches (20 cm). It is erroneously claimed to be the largest living scorpion in the world. However, some species of Forest Scorpions are its equal. [...] Emperor scorpions have the same venom as a bee.The Guinness Book of Records claims a Forest Scorpion native to rural India, Heterometrus swammerdami, to be the largest scorpion in the world (9 inches [23 cm]).

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy