ข้ามไปเนื้อหา

แมงป่อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แมงป่อง
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 435–0Ma ยุคไซลูเรียนตอนต้นปัจจุบัน
Hottentotta tamulus, แมงป่องแดงอินเดีย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์ขาปล้อง
Arthropod
ไฟลัมย่อย: เชลิเซอราตา
Chelicerata
ชั้น: แมง
อันดับ: Scorpiones

C. L. Koch, 1837
วงศ์

ดู อนุกรมวิธาน

การกระจายพันธุ์ของแมงป่องทั่วโลก

แมงป่อง (ภาษาไทยถิ่นอีสาน: แมงงอด; ภาษาไทยถิ่นเหนือ : แมงเวา) จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จำพวกสัตว์ขาปล้อง เป็นสัตว์มีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของแมงป่องที่มีอายุถึง 440 ล้านปี ตั้งแต่ยุคซิลลูเรียน เช่น Archaeobuthus estephani หรือ Protoischnurus axelrodorum [1] ซึ่งแมงป่องในยุคโบราณที่มีความยาวที่สุดยาวเกือบ 90 เซนติเมตร

ลักษณะและพฤติกรรม

[แก้]

แมงป่องเป็นสัตว์มีพิษ มีรูปร่างคล้ายปู ส่วนหัวติดกับอกเป็นส่วนเดียวกัน รูปร่างค่อนไปทางสี่เหลี่ยมยาว ลำตัวยาวเป็นปล้อง ๆ ประมาณ 2–10 เซนติเมตร มีก้ามคล้ายก้ามปู 1 คู่ และลำตัวติดกัน มีขาเป็นปล้อง ๆ 4 คู่ติดอยู่ ท้องยาวออกไปป็นหาง มี 5 ปล้อง ที่ปลายหางมีอวัยวะสำหรับต่อย ความยาวโดยเฉลี่ย 3–9 เซนติเมตร โดยแมงป่องที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกพบในถ้ำมีความยาวเพียง 9 มิลลิเมตรเท่านั้น

แมงป่องเป็นสัตว์ที่โดยปกติจะสงบเงียบ แต่ถ้าหากถูกรบกวน จะยกหางชูงอ ๆ ที่ด้านหลัง เพื่อขู่ และจะต่อยเพื่อป้องกันตัวหรือออกล่าเหยื่อ

แมงป่องเป็นสัตว์ไม่ชอบแสงสว่าง มักจะหลบซ่อนตัวอยู่ตามสถานที่มืดและชื้น เช่น ใต้ก้อนหิน ใต้กองไม้ ใต้ใบไม้ หรือขุดโพรงหรือรูอยู่ตามป่าละเมาะ และออกหากินในเวลากลางคืน ทั่วโลกมีแมงป่องประมาณ 1,200 ชนิด[1] อยู่ทั้งในเขตทะเลทราย เขตร้อนชื้น หรือแม้แต่แถบชายฝั่งทะเล พบชนิดที่มีพิษร้ายแรง 50 ชนิด [1]บางชนิดมีพิษรุนแรงมาก เช่น แมงป่องในสกุล Centruroides ที่รัฐแอริโซนาของสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล และทะเลทรายสะฮารา สำหรับลักษณะของหางนั้นจะแตกต่างไปตามชนิด ซึ่งจะมีความไวในการจู่โจมแตกต่างกันออกไปด้วย โดยแมงป่องชนิด เดทสโตกเกอร์ (Leiurus quinquestriatus) ที่มีขนาด 4.3 นิ้ว พบแพร่กระจายพันธุ์ในทะเลทรายทางตอนเหนือของแอฟริกาและตะวันออกกลาง เป็นชนิดที่มีความไวในการจู่โจมสูงสุด เมื่อตวัดหางขึ้นเหนือหัวจะมีความเร็วถึง 130 เซนติเมตร/ชั่วโมง และมีพิษร้ายแรงที่มีผลต่อระบบประสาท ทำให้ผู้ที่โดนต่อยเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ และชนิดแบล็คสปิตติง (Parabuthus transvaalicus) ที่พบในภูมิภาคแอฟริกาใต้ เช่น ทะเลทรายนามิบ เป็นชนิดที่สามารถพ่นพิษออกจากปลายหางได้[2]

นอกจากนี้แล้ว แมงป่องยังมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสัตว์ขาปล้องจำพวกอื่น ๆ คือ มีสารซึ่งเมื่อต้องกับแสงแบล็คไลท์แล้ว จะเห็นเป็นตัวแมงป่องเรืองแสง ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากสารชนิดหนึ่งซึ่งยังไม่ทราบแน่นอน ซึ่งฝังตัวอยู่เป็นชั้นบาง ๆ ในเปลือกของแมงป่อง ถึงแม้แมงป่องตายไปแล้วเป็นเวลานาน คุณสมบัติเรืองแสงนี้ก็ยังคงอยู่ จากซากแมงป่องอายุหลายร้อยปีพบว่า แม้ว่าเปลือกจะไม่คงรูปร่างแล้ว แต่สารเรืองแสงยังคงฝังตัวติดกับหินซากดึกดำบรรพ์ นอกจากนี้ตัวอย่างแมงป่องที่ดอง หรือแม้แต่แมงป่องที่ถูกทอดเพื่อเป็นอาหาร ก็ยังคงสารตัวนี้อยู่[3]

แมงป่องภายใต้แสงแบล็คไลท์

ในประเทศไทย มี 11 ชนิด[4] ที่พบบ่อยมากที่สุด คือ แมงป่องในวงศ์ Scorpionidae สกุล Heterometrus หรือแมงป่องช้าง ได้แก่ H. longimanus และ H. laoticus พบ H. laoticus มากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย[1]

ประสาทสัมผัส

[แก้]

แมงป่องมีตาบนหัวหนึ่งคู่ และตาข้างอีก 3 คู่ แม้ว่าแมงป่องมีตาหลายคู่ แต่มีประสิทธิภาพการมองเห็นต่ำมาก และไม่ไวพอจะรับแสงกระพริบได้ เช่น แสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป และต้องใช้เวลานานในการปรับตาให้ตอบสนองต่อแสง สังเกตได้เมื่อแมงป่องถูกนำออกจากที่มืด ต้องใช้เวลานับนาทีจึงจะเริ่มเคลื่อนไหว

ข้อด้อยเรื่องสายตาได้ถูกทดแทนด้วยสิ่งอื่น ร่างกายแมงป่องปกคลุมด้วยเส้นขนจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณปล้องพิษ ขนเหล่านี้รับความรู้สึกจากการเคลื่อนไหวของอากาศ ทำให้แมงป่องไวต่อเสียงมาก แมงป่องจึงชูหางขึ้นทันทีที่มีเสียง หรือมีการเคลื่อนไหวของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เมื่อมีเหยื่อหรือศัตรูเข้ามาใกล้ และสามารถฉีดพิษสู่เหยื่อได้อย่างแม่นยำ[3]

พิษ

[แก้]

แมงป่องเป็นสัตว์ที่สามารถอดอาหารได้เป็นเดือน โดยปกติแล้วเมื่อล่าเหยื่อจะฉีดพิษเพื่อให้เหยื่อเป็นอัมพาตก่อนจะกินทั้งเป็น แมงป่องเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยจะล่าเหยื่อเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเล็ก ๆ เช่น แมง, แมลง ต่าง ๆ เป็นอาหาร พิษของแมงป่องเป็นสารประกอบโปรตีนมีลักษณะใสคล้ายน้ำส้มสายชู พิษของแมงป่องมีพิษต่อระบบประสาท ส่วนน้อยมีพิษต่อระบบโลหิต รอยแผลจะมีลักษณะคล้ายเข็มแทงรูเดียว บางครั้งอาจเป็นรอยไหม้ โดยทั่วไปแล้วจะไม่สามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิตต่อมนุษย์ได้ แต่ก็อาจมีอันตรายสำหรับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้หรือร่างกายอ่อนแอ แมงป่องที่มีพิษร้ายแรงถึงขั้นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ ส่วนมากจะพบในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก มีรายงานผู้ถูกแมงป่องต่อยสูงถึงปีละประมาณ 5,000 คน ชนิดที่มีพิษร้ายแรงสามารถต่อยทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลา 6–7 ชั่วโมง ส่วนแมงป่องที่พบในประเทศไทยเป็นชนิดที่มีพิษไม่ร้ายแรง

โดยมากแล้ว แมงป่องชนิดที่มีพิษร้ายแรงมักเป็นแมงป่องที่มีขนาดเล็ก ก้ามเล็ก สีลำตัวไม่เข้ม สำหรับแมงป่องที่มีลำตัวใหญ่ ก้ามใหญ่ สีเข้ม แลดูน่าเกรงขาม มักเป็นแมงป่องชนิดที่พิษไม่ร้ายแรง

หากโดนแมงป่องต่อย การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ล้างด้วยสบู่ แล้วเอาแอลกอฮอล์เช็ดอีกรอบ อาจจะลดอาการปวดด้วยการใช้น้ำแข็งประคบ และกินยาแก้ปวดร่วมด้วย

การใช้ประโยชน์

[แก้]

ชาวจีนนำมาปิ้งหรือย่าง เชื่อว่ากินแล้วช่วยขับลม ช่วยขับพิษอื่น ๆ ทำให้เลือดลมดี และใช้แมงป่องอบแห้งรักษาโรคหลายชนิด เช่น บาดทะยัก เกาต์ หลอดเลือดแดงอักเสบ เป็นต้น ในประเทศไทยใช้ดองเหล้ากิน บรรเทาอาการอัมพาต อัมพฤกษ์

แมงป่องที่ตายไปแล้วยังสามารถนำมาจัดเก็บเพื่อการสะสมหรือการศึกษาแบบเดียวกับแมลงหรือแมงสตั๊ฟฟ์ทั่วไปได้อีกด้วย

นอกจากนี้ความยังถูกอ้างอิงถึงในสัญลักษณ์ประเภทต่าง ๆ เช่น ราศีพิจิก ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นราศีที่ 8 ก็มีสัญลักษณ์เป็นรูปแมงป่อง [5] รวมถึงกล่าวอ้างถึงในโคลง โลกนิติ โคลงสี่สุภาพที่แต่งขึ้นในต้นยุครัตนโกสินทร์ เป็นโคลงสุภาษิตสอนใจ ในส่วนที่กล่าวถึงแมงป่อง ไว้ว่า

พิษน้อยหยิ่งโยโส แมลงป่องชูแต่หางเองอ้า อวดอ้างฤทธี ฯ

อันหมายถึง ผู้ที่ชอบอวดดีทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรดีพอที่จะอวด เป็นต้น[6] หรือในละครเรื่อง เรือนเบญจพิษ ที่นำแมงป่องมาทำเป็นกู่รวมกับ งู ตะขาบ แมงมุม และ คางคก

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=103[ลิงก์เสีย]
  2. หน้า 7 โลกาภิวัฒน์ GLOBALIZATION, แมงป่องที่โจมตีเร็วและมีพิษร้ายที่สุดในโลก. "ทันโลก". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21631: วันพุธที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2560 แรม 1 ค่ำ เดือน 5 ปีระกา
  3. 3.0 3.1 แมลงและแมงกินได้ที่พบมากในเดือนกุมภาพันธ์
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-14. สืบค้นเมื่อ 2008-05-10.
  5. ราศีพิจิก (Scorpio Zodiac)
  6. สุปาณี พัดทอง, "โคลงโลกนิติ" อมตะวรรณกรรมคำสอน, วารสารวรรณวิทัศน์ ปีที่ 2 ฉ.2, ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ย. 2545

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy