ข้ามไปเนื้อหา

วิกิพีเดีย:การอนุญาโตตุลาการ/นโยบาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นโยบายนี้ว่าด้วยคณะอนุญาโตตุลาการแห่งวิกิพีเดียภาษาไทย และวิธีพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว โดยประชาคมได้ให้สัตยาบัน ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2554

หมวด 1 บททั่วไป

ข้อ 1 บทวิเคราะห์ศัพท์

ในนโยบายนี้

  1. "คอต." หมายถึง คณะอนุญาโตตุลาการแห่งวิกิพีเดียภาษาไทย
  2. "ตุลาการ" หมายถึง สมาชิก คอต.
  3. "ผู้สมัคร" หมายถึง ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นตุลาการ
  4. "ผู้ใช้" หมายถึง ผู้ใช้ที่อยู่ในวิกิพีเดียภาษาไทยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทั้งนี้ เฉพาะที่เปิดบัญชีแล้วเท่านั้น ไม่ว่าจะเปิดบัญชีในโครงการใดของวิกิมีเดีย และไม่ว่าเป็นผู้ใช้ทั่วไป หรือปฏิบัติหน้าที่อื่นใด
  5. "ประชาคม" หมายถึง ประชาคมวิกิพีเดียภาษาไทย อันประกอบด้วยผู้ใช้ทั้งปวง
  6. "มูลนิธิ" หมายถึง มูลนิธิวิกิมีเดีย
  7. "สำนักทะเบียน" หมายถึง สำนักทะเบียน คอต.
  8. "ผู้มีส่วนได้เสีย" หมายถึง ผู้ใช้ที่มีส่วนได้เสียในคดี

หมวด 2 ตุลาการ

ส่วนที่ 1 การได้มาซึ่งตุลาการ

ข้อ 2 การเลือกตั้งตุลาการ

  1. ตุลาการแต่ละคน มาจากการเลือกตั้งประจำปีอันจัดขึ้นโดยประชาคม และลงคะแนนเสียงโดยสมาชิกประชาคม
  2. ในการเลือกตั้งประจำปี ผู้ใช้ซึ่งมีคุณสมบัติตามนโยบายนี้อาจเสนอตนเป็นผู้สมัคร หรือผู้ใช้คนอื่นอาจเสนอผู้ใช้ซึ่งมีคุณสมบัติดังกล่าวให้เป็นผู้สมัครก็ได้ ทั้งนี้ พึงเปิดให้เสนอชื่อเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วันก่อนวันเลือกตั้ง
  3. เมื่อมีพฤติการณ์อันมิอาจก้าวล่วงได้ เป็นต้นว่า ตุลาการลาออกหรือมิอาจปฏิบัติหน้าที่ได้กลางคัน และ คอต. เห็นเป็นการจำเป็นรีบด่วน คอต. อาจประกาศให้มีการเลือกตั้งพิเศษก็ได้ โดยให้ใช้วิธีเลือกตั้งประจำปีบังคับโดยอนุโลม แต่ไม่รวมถึงระยะเวลาการเสนอชื่อผู้สมัคร
  4. ตุลาการไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งตุลาการด้วยกัน แต่ความข้อนี้ไม่ห้ามตุลาการในอันที่จะแสดงความคิดเห็นในการดังกล่าว

ข้อ 3 เงื่อนไขการเป็นผู้สมัคร

  1. ไม่ว่าในการเลือกตั้งประจำปีก็ดี หรือการเลือกตั้งพิเศษก็ดี ผู้สมัครต้อง
    1. เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมูลนิธิว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ณ ภูมิลำเนาตามกฎหมายของตน และอื่นๆ)
    2. ให้สัตยาบันโดยทำเป็นคำแถลงในการเลือกตั้งสมัยตน ว่า ตนจักปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมูลนิธิว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยเคร่งครัด
    3. เปิดเผยบัญชีผู้ใช้อื่น ๆ ของตนขณะให้สัตยาบันด้วย แต่บัญชีผู้ใช้อันชอบตามระเบียบที่ได้แถลงต่อ คอต. ก่อนที่ตนได้รับการเสนอชื่อนั้น หาจำต้องเปิดเผยอีกไม่

ข้อ 4 การดำรงตำแหน่ง

วาระดำรงตำแหน่งของตุลาการคนหนึ่ง ๆ ย่อมเริ่มต้นทันทีที่ได้รับเลือกตั้ง ในกรณีเช่นนี้ เขาย่อมเข้าทำคดีได้โดยพลัน

ส่วนที่ 2 จริยธรรมของตุลาการ

ข้อ 5 จริยธรรมของตุลาการ

  1. ตุลาการต้อง
    1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรมและโดยสุจริตเสมอต้นเสมอปลาย
    2. ตอบอย่างทันท่วงทีและตามสมควร ซึ่งปัญหาอันตุลาการคนอื่น ๆ หรือประชาคมตั้งขึ้นเกี่ยวกับความประพฤติของตนที่น่าจะขัดกับบทบาทอันได้รับมอบหมาย
    3. ร่วมกิจกรรมและร่วมทำคำวินิจฉัยกับ คอต. อย่างมีมโนธรรม
    4. แจ้งให้ คอต. ทราบถึงการที่ตนจะไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้าการนั้นจักยาวนานกว่าเจ็ดวัน
    5. รักษาข้อมูลข่าวสารที่ส่งมาถึงหรือไปจาก คอต. รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการประชุมปรึกษาคดีของ คอต. ไว้เป็นความลับ

ส่วนที่ 3 การคัดค้านตุลาการ

ข้อ 6 เหตุคัดค้านตุลาการ

  1. เมื่อคดีถึง คอต. ตุลาการคนหนึ่งคนใดอาจถูกคัดค้านได้ ถ้าตุลาการนั้นมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีนั้น
  2. การมีผลประโยชน์ได้เสีย รวมถึง
    1. กรณีที่ตุลาการได้ถูกอ้างเป็นพยานหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในคดีนั้น และ
    2. กรณีที่มีคดีอีกเรื่องหนึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของ คอต. หรือมีข้อพิพาทอยู่ในประชาคม ซึ่งตุลาการนั้นเอง ฝ่ายหนึ่ง เป็นความกับ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีปัจจุบัน อีกฝ่ายหนึ่ง
  3. เหตุคัดค้านตามวรรค 1 ไม่รวมถึง กรณีที่ตุลาการนั้นปฏิบัติกิจวัตรของตนตามปรกติ ไม่ว่าในฐานะเป็นผู้ใช้ก็ดี เป็นผู้ดูแลระบบก็ดี หรือเป็นตุลาการก็ดี จึงเป็นเหตุให้เกี่ยวพันกับคดีหรือคู่ความในคดีนั้น

ข้อ 7 การคัดค้านตุลาการ

  1. ผู้ใช้ผู้ใดจะคัดค้านตุลาการก็ได้
  2. การคัดค้านตุลาการนั้น ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
    1. ให้ทำเป็นคำแถลงไว้ในหน้าพูดคุยของตุลาการผู้ถูกคัดค้านนั้นเอง โดยต้องแสดงเหตุที่คัดค้านไว้ด้วย
    2. ถ้าภายในเวลาอันสมควร ตุลาการผู้ถูกคัดค้านไม่ตอบคำแถลงก็ดี หรือไม่ยอมถอนตัวจากการทำคดีก็ดี ผู้คัดค้านชอบจะยื่นคำแถลงต่อไปยัง คอต. เพื่อวินิจฉัยได้
    3. เมื่อมีคำแถลงมาถึง คอต. ตามวรรคก่อน ให้ คอต. งดกระบวนพิจารณาทั้งปวงไว้ก่อน และให้ตุลาการผู้ถูกคัดค้านงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน จนกว่า คอต. จะได้วินิจฉัยคำแถลงนั้นแล้ว
    4. แต่ไม่ว่ากรณีใด ผู้ใช้จะแถลงคัดค้านมิได้ ถ้าคดีได้ดำเนินมาถึงคราวลงคะแนนเสียงเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดของ คอต. แล้ว
    5. การชี้ขาดคำแถลงตามข้อนี้ ให้ คอต. ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ถือตามคำแถลงนั้น
    6. คำวินิจฉัยของ คอต. ตามข้อนี้ ให้เป็นที่สุด

ข้อ 8 การถอนตัว

เมื่อมีเหตุคัดค้าน หรือเหตุประการอื่นอันมีสภาพร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือวินิจฉัยคดีเสียความยุติธรรมไป ตุลาการผู้เกี่ยวข้องจะถอนตัวจากการทำคดีเอง แม้ไม่มีผู้คัดค้าน ก็ได้ ในการนี้ ให้ตุลาการผู้นั้นแถลงต่อ คอต. โดยต้องระบุเหตุผลด้วย แล้วถอนตัวเสีย

ส่วนที่ 4 การพ้นจากตำแหน่ง

ข้อ 9 เหตุพ้นจากตำแหน่ง

  1. ตุลาการคนหนึ่ง ๆ ย่อมพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
    1. ลาออก โดยให้แถลงต่อ คอต. และให้มีผลทันทีที่ได้แถลง
    2. คอต. โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมดที่มีอยู่ สั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะ
      1. ละเมิดจริยธรรมข้อหนึ่งข้อใดเป็นอาจิณ หรือเพียงครั้งเดียวแต่ร้ายแรง
      2. บกพร่องในหน้าที่
      3. ละหน้าที่เป็นเวลายาวนาน โดยไม่บอกกล่าวต่อ คอต. หรือไม่มีเหตุสมควร หรือ
      4. ไร้ความสามารถอย่างเห็นประจักษ์
    3. วาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปีสิ้นสุดลง[1] แต่อาจได้รับเลือกตั้งมาอีกได้

ข้อ 10 การพักหน้าที่

เมื่อมีเหตุตามข้อ 9 วรรค 1 อนุวรรค 3 คอต. โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมดที่มีอยู่ จะสั่งให้ตุลาการผู้นั้นพักหน้าที่แทนก็ได้

ข้อ 11 บทเบ็ดเตล็ด

  1. ตุลาการผู้ที่วาระดำรงแหน่งสิ้นสุดลงระหว่างพิจารณาคดี ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคดีถึงที่สุด
  2. ตุลาการที่ได้รับเลือกเข้ามาแทนผู้พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ย่อมอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลือของผู้ที่ตนแทน และอาจได้รับเลือกตั้งมาอีกได้

หมวด 3 คอต.

ส่วนที่ 1 เขตอำนาจของ คอต.

ข้อ 12 เขตของ คอต.

  1. คอต. มีเขตเฉพาะแต่ในวิกิพีเดียภาษาไทย, วิกิซอร์ซภาษาไทย, วิกิพจนานุกรมภาษาไทย, วิกิคำคมภาษาไทย และวิกิตำราภาษาไทย
  2. ความข้อนี้ไม่ตัดอำนาจของ คอต. ในอันที่จะพิเคราะห์เรื่องราวทั้งหลายอันเกิดขึ้นภายนอกเขตของตน เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาและวินิจฉัยคดีในอำนาจของตนได้ แต่เรื่องราวเช่นว่านี้ ต้องมีหรือน่าจะมีผลกระทบต่อวิกิพีเดียภาษาไทย, วิกิซอร์ซภาษาไทย, วิกิพจนานุกรมภาษาไทย, วิกิคำคมภาษาไทย หรือวิกิตำราภาษาไทย หรือต่อผู้ใช้โดยรวมด้วย

ข้อ 13 อำนาจพิจารณาและวินิจฉัยของ คอต.

  1. คอต. มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีดังต่อไปนี้
    1. ข้อพิพาททั้งหลายอันเกิดขึ้นในประชาคม และมีสภาพร้ายแรงถึงขนาดที่ประชาคมไม่สามารถระงับลงได้ด้วยตนเอง
    2. ข้อพิพาทต่าง ๆ อันไม่พึงอภิปรายกันในที่สาธารณะ เนื่องจากความเป็นส่วนตัว, เหตุผลทางกฎหมาย หรือปัจจัยอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    3. การอุทธรณ์คำสั่งของผู้ดูแลระบบที่ห้าม, ปิดกั้น หรือจำกัดโดยประการอื่นต่อผู้ใช้คนใด
    4. การขอให้เพิกถอนเครื่องมือผู้ดูแลระบบ[2]
    5. การขออนุมัติให้
      1. ตรวจสอบผู้ใช้ (CheckUser) หรือ
      2. ให้ใช้รายการพัสดุทางการของ คอต. ร่วมกับ คอต. ด้วย
    6. การขอให้ยกเลิกคำอนุมัติตามความในอนุวรรค 5
    7. การอุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของ คอต.
  2. การปฏิบัติหน้าที่ทางการของมูลนิธิ หรือของเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยของ คอต.
  3. คอต. ย่อมคงไว้ซึ่งเขตอำนาจเหนือคดีที่ตนได้วินิจฉัยไปแล้ว รวมถึงกระบวนพิจารณาที่ตามมา เช่น การบังคับคดี, การรื้อฟื้นคดี, การขอให้อธิบายคำวินิจฉัย ฯลฯ
  4. เมื่อ คอต. เห็นเอง หรือเมื่อคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ คอต. จะสั่งให้รื้อฟื้นคดีใหม่เสียเมื่อใดก็ได้

ส่วนที่ 2 การบริหาร คอต.

ข้อ 14 การบริหารคดี

  1. คอต. ไม่มีประธาน แต่จะเลือกตุลาการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ประสานงานของตนก็ได้
  2. คอต. จะแต่งตั้งให้ตุลาการคนหนึ่งหรือหลายคนรับผิดชอบสำนวนคดีเป็นรายคดีไป เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐาน แถลงคดี หรืออื่น ๆ ก็ได้
  3. คอต. จะจัดตั้งแผนก, องค์คณะ, หรือคณะกรรมการ หรือให้ผู้ใช้คนหนึ่งคนใดซึ่งสมัครใจ ให้รับหน้าที่ใด ๆ เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดีก็ได้

ข้อ 15 สำนักทะเบียน

  1. คอต. มีสำนักทะเบียนสำนักหนึ่ง
  2. สำนักทะเบียนมีหน้าที่
    1. ช่วยเหลืองานธุรการของ คอต.
    2. บริหารจัดการคดี เช่น จัดให้คดีได้รับการพิจารณาไปตามลำดับที่ คอต. รับมา
    3. บำรุงรักษาหน้าและหน้าย่อยของ คอต.
    4. ประสานงานในการบังคับตามคำวินิจฉัยของ คอต.
    5. ทำให้วิธีพิจารณาของ คอต. เกิดผลเป็นรูปธรรม
    6. ควบคุมมรรยาทและความประพฤติอันดีในหน้าต่าง ๆ ของ คอต.
    7. หน้าที่อื่น ๆ ที่ คอต. มอบหมาย

หมวด 4 วิธีพิจารณา

ส่วนที่ 1 บททั่วไป

ข้อ 16 ระเบียบว่าด้วยวิธีพิจารณา

คอต. จะตรา และแก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบว่าด้วยวิธีพิจารณา โดยไม่ขัดหรือแย้งกับนโยบายนี้ก็ได้

ส่วนที่ 2 การเสนอข้อหา

ข้อ 17 ผู้มีสิทธิเสนอข้อหา

  1. บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิเสนอข้อหา หรือขอให้ คอต. มีคำบังคับใด ๆ ตามอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยได้ คือ
    1. คู่พิพาทเอง
    2. ผู้ดูแลระบบ
    3. ผู้มีส่วนได้เสีย แต่ต้องบรรยายส่วนได้เสียของตนมาด้วย
    4. บุคคลอื่น ๆ ตามที่ คอต. กำหนด

ข้อ 18 วิธีเสนอข้อหา

  1. การเสนอข้อหาหรือมีคำขอตามข้อ 17 นั้น ให้ทำเป็นคำร้อง โดยอย่างน้อยต้อง
    1. ระบุชื่อคู่พิพาท ถ้าเป็นคดีมีข้อพิพาท
    2. แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของผู้ร้อง พร้อมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น
    3. บรรยายคำขอบังคับ
    4. ลงชื่อผู้ร้อง และวันที่ร้อง ตามวิธีการของวิกิพีเดีย
  2. คำร้อง รวมถึงคำคู่ความอื่น ๆ นั้น ให้ส่งไปยังตู้พัสดุ คอต.
  3. ก่อนสืบพยานหลักฐาน ผู้ร้องย่อมแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องได้เสมอ
  4. เมื่อคำร้องมาถึง คอต. คอต. ย่อมมีอำนาจเต็มที่จะใช้ดุลพินิจว่า จะรับ จะคืนไปแก้ไขปรับปรุงใหม่ หรือจะยกเสีย โดยจะฟังความเห็นของคู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียคนอื่น ๆ ก่อนก็ได้ แต่ คอต. หาผูกพันกับความเห็นเหล่านี้ไม่

ข้อ 19 การถอนคดี

ก่อนคดีดำเนินมาถึงคราววินิจฉัยชี้ขาดของ คอต. ผู้ร้องจะขอถอนคดีก็ได้ โดยให้แถลงอย่างชัดแจ้งต่อ คอต. แต่ถ้ามีผู้ร้องหลายคน และผู้ร้องบางคนมิได้ขอถอนคดีด้วย คดีนั้นคงดำเนินระหว่างผู้ร้องผู้นั้น กับผู้ถูกร้อง และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ อยู่ต่อไป

ส่วนที่ 3 การพิจารณา

ข้อ 20 การพิจารณาโดยเปิดเผย

  1. กระบวนพิจารณาของ คอต. นั้น ต้องกระทำโดยเปิดเผย
  2. เมื่อมีพฤติการณ์อันไม่อาจก้าวล่วงได้ เช่น เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัว, เป็นเรื่องน่าอดสู หรือมีประเด็นทางกฎหมาย ไม่ว่า คอต. เห็นเอง หรือคู่ความร้องขอมา คอต. จะสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นการลับก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้คู่ความทุกฝ่ายทราบ และต้องให้คู่ความทุกฝ่ายมีโอกาสให้การในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนตามอย่างเต็มที่

ข้อ 21 การงดบางขั้นตอน

  1. เมื่อ คอต. เห็นว่า คดีใดมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ คอต. อาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยเลย โดยไม่ไต่สวน หรือโดยให้งดกระบวนพิจารณาบางขั้นตอน เช่น งดสืบพยานหลักฐาน ก็ได้
  2. เมื่อ คอต. เห็นว่า กระบวนพิจารณาขั้นตอนใดไม่เกี่ยวข้องกับหรือไม่จำเป็นแก่เรื่องพิจารณา หรือจะทำให้คดีล่าช้าโดยไม่สมควร คอต. จะให้งดกระบวนพิจารณาขั้นตอนนั้นเสียก็ได้

ข้อ 22 คำสั่งห้ามก่อนวินิจฉัย

ในเวลาใดตั้งแต่เปิดคดีไปจนถึงปิดคดี คอต. จะมีคำสั่งห้ามมิให้คู่ความ หรือผู้ใช้อื่น ๆ ทั่วไปดำเนินการใดก็ได้ ในการนี้ คอต. จะกำหนดให้ใช้วิธีการบังคับก็ได้โดยอนุโลม

ส่วนที่ 4 พยานหลักฐาน

ข้อ 23 การนำสืบ

  1. คู่ความชอบจะนำเสนอพยานหลักฐานทั้งปวงต่อ คอต. ได้
  2. คอต. จะเรียกพยานหลักฐานมาสืบเองตามที่เห็นจำเป็นก็ได้ ในการนี้ คอต. ย่อมมีอำนาจเรียกให้ผู้ใช้คนใดให้ถ้อยคำหรือส่งพยานหลักฐานในครอบครองมาได้

ข้อ 24 พยานหลักฐานที่รับฟังได้

  1. ในกระบวนพิจารณาทั้งปวง พยานหลักฐานที่รับฟังได้ ย่อมรวมถึงสิ่งดังต่อไปนี้ด้วย
    1. บรรดาการแก้ไขและปูมการแก้ไขของวิกิพีเดีย ซึ่งรวมถึงการลบ และการซ่อนด้วยประการอื่นด้วย
    2. บรรดาการแก้ไขและปูมการแก้ไขในโครงการอื่น ๆ ของวิกิมีเดีย นอกจากวิกิพีเดียภาษาไทย ตามที่ คอต. เห็นสมควร และ
    3. ข้อความอันมีมาในตู้พัสดุทางการของวิกิพีเดีย
  2. พยานหลักฐานจากการประนีประนอมนั้น จะรับฟังได้ ก็ต่อเมื่อคณะไกล่เกลี่ย (Mediation Committee) ยินยอมโดยชัดแจ้งแล้วเท่านั้น
  3. พยานหลักฐานอันอ้างอิงข้อความโต้ตอบส่วนตัว (รวมถึงในเว็บไซต์, แหล่งอภิปราย, ห้องสนทนา, หนังสือเวียนทางอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ อื่น ๆ ภายนอกวิกิพีเดีย) นั้น จะนำเสนอได้ ก็ต่อเมื่อ คอต. อนุญาต และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเท่านั้น

ส่วนที่ 5 การวินิจฉัยคดี

ข้อ 25 การปิดการพิจารณาคดี

เมื่อได้สืบพยานหลักฐานตามที่จำเป็น และให้คู่ความได้แถลงปิดคดี ถ้าคู่ความต้องการแล้ว การพิจารณาคดีเป็นอันสิ้นสุด

ข้อ 26 การประชุมปรึกษาคดี

  1. การประชุมปรึกษาคดีของ คอต. นั้นให้กระทำเป็นการลับ แต่คำวินิจฉัยของ คอต. รวมถึงความเห็นส่วนตนของตุลาการแต่ละคนนั้น ให้ประกาศแก่สาธารณชน
  2. ให้ตุลาการแต่ละคนทำความเห็นส่วนตนเป็นการลับ แล้วแถลงต่อที่ประชุม คอต. เพื่อให้ได้มาซึ่งมติกลาง มตินั้นย่อมได้มาด้วยเสียงข้างมากของตุลาการทั้งหมดที่มีอยู่
  3. ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ตุลาการตั้งบุคคลภายนอกเป็นประธานขึ้นคนหนึ่งเพื่อออกคะแนนเสียงชี้ขาด ถ้าตุลาการไม่อาจตกลงกันในการตั้งประธาน ก็ให้ประชาคมตั้งประธาน
  4. ห้ามมิให้วินิจฉัยหรือสั่งในสิ่งใด ๆ เกินไปกว่าที่ปรากฏในคำร้อง
  5. ตุลาการทุกคนชอบจะทำความเห็นแย้งได้

ข้อ 27 รูปแบบคำวินิจฉัย

  1. คำวินิจฉัยของ คอต. นั้น อย่างน้อยต้อง
    1. บรรยายข้อเท็จจริงที่ไต่สวนได้ความ
    2. บรรยายคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี พร้อมเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น
    3. ระบุข้อกำหนดในการบังคับคดี ถ้ามี
    4. ลงลายมือชื่อและวันที่ของตุลาการทุกคนที่ร่วมทำคำวินิจฉัย ตามวิธีการของวิกิพีเดีย

ข้อ 28 การขอให้อธิบายคำวินิจฉัย

เมื่อมีข้อสงสัยในส่วนใด ๆ ของคำวินิจฉัย ตุลาการก็ดี, คู่ความก็ดี หรือผู้มีส่วนได้เสียก็ดี จะร้องขอให้ คอต. อธิบายก็ได้

ข้อ 29 วิธีการบังคับ

  1. เพื่อประโยชน์แห่งการบังคับตามคำวินิจฉัย คอต. มีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับต่าง ๆ ได้ตามสมควร
  2. วิธีการบังคับเช่นว่า รวมถึง
    1. สั่งให้ผู้ใช้ที่มีหลายบัญชี ใช้เพียงบัญชีเดียว
    2. ให้ทำทัณฑ์บนว่าจะไม่กระทำการใด ๆ อีก เมื่อละเมิดทัณฑ์บนนั้น ก็ให้สั่งปิดกั้นตามสมควรต่อไป
    3. สั่งให้ปิดกั้นบัญชีผู้ใช้ ไม่ว่าชั่วระยะหนึ่ง หรือโดยไม่มีกำหนด
    4. จำกัดการเข้าถึงโครงการที่อยู่ในเขตของ คอต. เช่น จำกัดการย้อนการแก้ไข, จำกัดการเข้าถึงหัวเรื่องบางประการ เป็นต้น

ส่วนที่ 6 การอุทธรณ์คำวินิจฉัย

ข้อ 30 การอุทธรณ์

  1. ผู้ใช้คนใด ๆ จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คอต. ในเรื่องใด ๆ ไปยัง คอต. เองก็ได้
  2. คำวินิจฉัยเกี่ยวด้วยการเยียวยานั้น อาจอุทธรณ์โดยตรงไปยัง และอาจได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดย ประธานมูลนิธิ หรือผู้ที่ประธานมูลนิธิมอบหมายได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่เขาเกี่ยวข้องในมูลพิพาทเสียเอง
  3. คอต. อาจกำหนดว่า ให้พ้นระยะเวลาหนึ่ง ๆ นับตั้งแต่มีคำวินิจฉัยเสียก่อน จึงจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยนั้นได้ หรือให้พ้นระยะเวลาหนึ่ง ๆ นับตั้งแต่มีคำอุทธรณ์เสียก่อน จึงจะพิจารณาคดีอุทธรณ์นั้น

ส่วนที่ 7 ผลของคำวินิจฉัย

ข้อ 31 ขอบข่ายของกระบวนอนุญาโตตุลาการ

  1. กระบวนอนุญาโตตุลาการมิได้มีไว้สำหรับขับเคลื่อนนโยบายใหม่ ๆ แต่ความข้อนี้ไม่ตัดอำนาจ คอต. ในอันที่จะตีความนโยบายและแนวปฏิบัติซึ่งใช้บังคับอยู่ รวมตลอดถึงรับรองความประพฤติอันดีมีมาตรฐานของผู้ใช้, เตือนสติให้ผู้ใช้ดำรงอยู่ในความประพฤติดังว่า, และกำหนดมาตรการเพื่อบังคับใช้นโยบายและแนวปฏิบัติทั้งหลายได้ ในการนี้ คอต. ย่อมไม่อาจวินิจฉัยความถูกต้องชอบธรรมของเนื้อหาของนโยบายและแนวปฏิบัติ แต่อาจเสนอญัตติให้ประชาคมวินิจฉัยได้
  2. คำวินิจฉัยของ คอต. ไม่เป็นปทัฏฐานสำหรับจะให้คำวินิจฉัยในภายหลังต้องดำเนินตาม ทว่า ความข้อนี้ไม่ห้าม คอต. ในอันที่จะพิเคราะห์คำวินิจฉัยเดิมเมื่อพิจารณาคดีใหม่ ตราบที่คำวินิจฉัยเดิมนั้นเกี่ยวเนื้อกับเนื้อหาสาระของคดีใหม่

ข้อ 32 ผลของคำวินิจฉัย

คำวินิจฉัยของ คอต. นั้น ให้มีผลในวันประกาศ

หมวด 5 การให้สัตยาบันและการแก้ไขเพิ่มเติม

ข้อ 33 การเริ่มใช้นโยบายนี้

  1. นโยบายนี้ ให้เริ่มใช้บังคับได้ทันทีที่เสียงข้างมากในประชาคมให้สัตยาบัน

ข้อ 34 การแก้ไขเพิ่มเติมนโยบายนี้

  1. การแก้ไขเพิ่มเติมนโยบายนี้ ต้องได้รับสัตยาบันทำนองเดียวกัน
  2. ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมนโยบายนี้ คอต. โดยคะแนนเสียงข้างมากของตุลาการทั้งหมดที่มีอยู่ก็ดี หรือผู้ใช้ ซึ่งเข้าชื่อกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 20 เสียงก็ดี[1] ย่อมเสนอไปยังประชาคมได้
  3. ระเบียบว่าด้วยกระบวนพิจารณา ซึ่งนโยบายนี้อนุญาตให้ คอต. ตราขึ้นและแก้ไขเพิ่มเติมเองได้นั้น หาจำต้องได้รับสัตยาบันจากประชาคมอีกไม่

เชิงอรรถ

  1. 1.0 1.1 อภิปรายแยกจากคราวให้สัตยาบันนโยบายฯ สรุปเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2554
  2. ในวิกิพีเดียอังกฤษเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 มีคำร้องขอความคิดเห็น และประชาคมได้ลงมติว่า บัญชีผู้ดูแลระบบที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลามากกว่าหนึ่งปี (มีนิยามไว้ว่า มิได้ "แก้ไขหรือดำเนินการในฐานะผู้ดูแลระบบเป็นเวลาอย่างน้อยสิบสองเดือน") ประชาคมอาจให้พ้นจากความเป็นผู้ดูแลได้ เรียกว่า "เครื่องมือผู้ดูแลระบบ" (administrative tools)
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy