ข้ามไปเนื้อหา

วัณโรค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Tuberculosis)
วัณโรค
ชื่ออื่นTuberculosis, phthisis, phthisis pulmonalis, consumption
ภาพถ่ายเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยวัณโรคระยะรุนแรง ลูกศรสีขาวชี้บริเวณที่มีการติดเชื้อที่ปอด และลูกศรสีดำชี้บริเวณที่ปอดถูกทำลายจนกลายเป็นโพรง
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ, โรคปอด
อาการไอเรื้อรัง, มีไข้, ไอเป็นเลือด, น้ำหนักลด[1]
สาเหตุเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis[1]
ปัจจัยเสี่ยงการสูบบุหรี่, การติดเชื้อเอชไอวี[1]
วิธีวินิจฉัยเอกซเรย์ปอด, เพาะเชื้อ, การตรวจทูเบอร์คูลิน[1]
โรคอื่นที่คล้ายกันปอดบวม, โรคติดเชื้อราฮีสโตพลาสมา, ซาร์คอยโดซิส, โรคติดเชื้อราค็อกซิดิออยด์[2]
การป้องกันคัดกรองโรคในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ให้การรักษาผู้ที่ติดเชื้อ ใช้วัคซีน BCG[3][4][5]
การรักษายาปฏิชีวนะ[1]
ความชุก25% ของประชากร (ระยะแฝง)[6]
การเสียชีวิต1.5 ล้าน (ค.ศ. 2018)[7]

วัณโรค (อังกฤษ: tuberculosis, TB) เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis[1] ทำให้เกิดโรคได้กับหลายๆ อวัยวะ โดยส่วนใหญ่พบที่ปอด[1] ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ เรียกว่าวัณโรคระยะแฝง[1] ผู้ป่วยกลุ่มนี้ 10% จะมีการดำเนินโรคไปจนถึงระยะที่มีอาการ ในจำนวนนี้หากไม่ได้รับการรักษาครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิต[1] อาการตามแบบฉบับของวัณโรคปอดระยะแสดงอาการคืออาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด มีไข้ เหงื่อออกกลางคืน และน้ำหนักลด[1] หากผู้ป่วยมีการติดเชื้อที่อวัยวะอื่นก็จะแสดงอาการแตกต่างกันไปตามแต่ละอวัยวะ[8]

วัณโรคติดต่อจากคนสู่คนผ่านอากาศ ผู้ป่วยวัณโรคปอดจะแพร่เชื้ออกมากับการไอ จาม ขับเสมหะ หรือการส่งเสียงพูด[1][9] ส่วนผู้ป่วยระยะแฝงจะไม่แพร่เชื้อ[1] การติดเชื้อแบบแสดงอาการจะพบได้บ่อยในผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ที่สูบบุหรี่[1] การวินิจฉัยทำได้โดยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก และการตรวจสารคัดหลั่งโดยการส่องกล้องหรือการเพาะเชื้อ[10] ส่วนการวินิจฉัยวัณโรคระยะแฝงมักทำด้วยการตรวจทูเบอร์คูลินที่ผิวหนังหรือการตรวจเลือด[10]

การป้องกันวัณโรคทำได้โดยการตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ วินิจฉัยและเริ่มต้นการรักษาให้รวดเร็ว และใช้วัคซีน BCG[3][4][5] ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่คนที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน หรือทำงานด้วยกัน หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อ[4] การรักษาทำได้โดยอาศัยการกินยาปฏิชีวนะหลายชนิดเป็นเวลานานหลายเดือน[1] ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยา ทั้งแบบที่ดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) และดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB)[1]

ข้อมูล ค.ศ. 2018 ระบุว่าประชากรของโลกประมาณหนึ่งในสี่มีการติดเชื้อวัณโรคแบบแฝงแล้ว[6] โดยในแต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 1% ของประชากร[11] ใน ค.ศ. 2018 มีผู้ป่วยวัณโรคระยะแสดงอาการมากกว่า 10 ล้านคน โดยมีผู้เสียชีวิต 1.5 ล้านคน[7] เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่หนึ่งในบรรดาโรคติดเชื้อทั้งหมด[12] ผู้ป่วยวัณโรคส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (44%) แอฟริกา (24%) และกลุ่มประเทศแปซิฟิกตะวันตก (18%) โดยผู้ป่วยกว่า 50% มาจาก 8 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน ไนจีเรีย และบังคลาเทศ[12] ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมาจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เริ่มลดลง[1] 80% ของประชากรในหลายประเทศในเอเชียและแอฟริกาจะตรวจทูเบอร์คูลินได้ผลบวก ส่วนในสหรัฐจะพบผลบวกประมาณ 5–10%[13] เชื้อวัณโรคอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ[14]

ในประเทศไทย วัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ โดยเฉพาะปัญหาวัณโรคดื้อยา ที่ยากต่อการควบคุม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2561 จึงมีการประกาศให้วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ลำดับที่ 13[15]

อาการ

[แก้]
  1. ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ บางรายไอแห้งๆ บางรายอาจมีเสมหะสี เหลือง เขียว หรือไอปนเลือด
  2. เจ็บแน่นหน้าอก
  3. มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือเย็น
  4. เหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย
  5. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

การปฏิบัติตนเมื่อเป็นวัณโรค

[แก้]
  1. กินยาตามชนิดและขนาดที่แพทย์สั่งให้อย่างสม่ำเสมอจนครบกำหนด
  2. หลังกินยาไประยะหนึ่ง อาการไอและอาการทั่วๆไปจะดีขึ้น อย่าหยุดกินยาเด็ดขาด
  3. ควรงดสิ่งเสพติดทุกชนิด เช่น เหล้า บุหรี่ ฯลฯ
  4. สวมผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
  5. เปลี่ยนผ้าปิดจมูกที่สวม บ่อยๆเพราะผ้าปิดจมูกเอง ก็เป็นพาหะได้เช่นกัน
  6. บ้วนเสมหะลงในภาชนะ หรือกระป๋องที่มีฝาปิดมิดชิด
  7. จัดบ้านให้อากาศถ่ายเทสะดวก ให้แสงแดดส่องถึงและหมั่นนำเครื่องนอนออกตากแดด
  8. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ได้ทุกชนิด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อปลา และนม ไข่ ผัก และผลไม้
  9. นอนกลางวันอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อนำโปรตีนจากอาหารรับประทานเข้าไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
  10. ไม่เที่ยวในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เพราะ อาจนำเชื้อไปแพร่ให้ผู้อื่น หรือ ติดเชื้อโรคจากผู้อื่นเข้าสู่ร่างกายเพิ่มเติม
  11. ในระยะ 2 เดือนแรกหลังจากเริ่มการรักษา (เรียกว่า "ระยะแพร่เชื้อโรค") ผู้ป่วยควรจะนอนในห้องที่มีอากาศถ่ายเท และ นอนแยกห้องกับสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงการรับประทานอาหาร การใช้ถ้วยชาม และเสื้อผ้า ควรแยกล้าง หรือ แยกซักต่างหาก และต้องนำไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค
  12. หลังจากแพทย์ลงความเห็นว่าพ้นจากระยะแพร่เชื้อโรคแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวได้ดังเช่นเดิม เช่น การนอน การรับประทานอาหาร และซักผ้าร่วมกับสมาชิกผู้อื่น โดยในระยะนี้ผู้ป่วยต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 4 เดือน (โรควัณโรคจะต้องใช้เวลาในการรักษาระยะสั้นที่สุด 6 เดือน ยาวที่สุด 1–2 ปี)

การป้องกัน

[แก้]
  1. ถ้ามีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง 2 สัปดาห์ขึ้นไป มีไข้ต่ำๆโดยเฉพาะตอนบ่ายๆหรือค่ำๆ เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรรีบไปรับการตรวจรักษาโดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ
  2. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
  3. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่น การส่ำส่อนทางเพศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอดส์ เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลง มีโอกาสที่จะป่วยเป็นวัณโรค จะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น
  4. ประชาชนทั่วไป ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซ์เรย์ปอดหรือตรวจเสมหะ (AFB) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถ้าพบว่าเป็นวัณโรคจะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น
  5. ในเด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจี (Bacilus Calmette Guerin) รวมถึงผู้ที่ทำการทดสอบทูเบอร์คูลินเทสท์ (Tuberculin test) ให้ผลเป็นลบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

แนวทางการรักษา

[แก้]

ในปัจจุบัน โรควัณโรคเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ โดยใช้ระยะเวลาการรักษาสั้นที่สุด 6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเองว่ากินยาครบตามที่แพทย์สั่งหรื่อไม่ ถ้ากินๆหยุดๆอาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อวัณโรคดื้อยา (MDR TB,XDR TB) ได้ จะทำให้ระยะเวลาการรักษายาวนานและการรักษายากมากยิ่งขึ้น

ยาวัณโรคในปัจจุบันหลัก ๆ จะมีอยู่ 4 ชนิดคือ

  1. Isoniazid
  2. Rifampicin
  3. pyrazinamide
  4. Ethambutol

ยาที่กล่าวมาในข้างต้นนี้มีผลข้างเคียงของยาทุกตัว จึงต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ ถ้าซื้อหรือหามารับประทานเองอาจเป็นอันตราย

วัณโรคกับเอดส์

[แก้]

วัณโรคและโรคเอดส์ เป็นแนวร่วมมฤตยูที่สามารถเพิ่มผลกระทบให้มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อเอดส์ โดยผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ จะมีผลกระทบต่อวัณโรค ทั้งในส่วนของการวินิจฉัยและการรักษา ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นในด้านการรักษา ผู้ป่วยมักขาดยา กินยาไม่สม่ำเสมอ นำไปสู่การดื้อยา ทำให้มีอัตราการรักษาหายต่ำ และจะส่งผลให้อัตราการตายสูง นอกจากนี้ ยังพบอัตราการกลับเป็นวัณโรคซ้ำมากขึ้น รวมทั้ง นำเชื้อวัณโรคดื้อยาแพร่กระจายแก่ผู้อื่นได้ง่าย

ความล่าช้าและผลกระทบ

[แก้]

ความล่าช้าในการรักษาผู้ป่วยวัณโรค หมายถึง ระยะเวลาที่ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการจนถึงระยะเวลาผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งสามารถแบ่งความล่าช้าออกได้ 4 ระยะ ดังนี้[16]

  1. ความล่าช้าจากผู้ป่วย (Patient's Delays) คือระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับวัณโรค และสิ้นสุดในวันสุดท้ายก่อนเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์
  2. ความล่าช้าจากระบบการส่งต่อ (Referral’s delays) คือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการเริ่มแรกมารับการรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขครั้งแรก แล้วได้รับการส่งต่อเพื่อพบแพทย์ทำการวินิจฉัยวัณโรค
  3. ความล่าช้าจากการวินิจฉัย (Diagnosis’s delays) คือระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ามารับการตรวจวินิจฉัยที่ระบบบริการสุขภาพของรัฐครั้งแรก และสิ้นสุดเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยป่วยเป็นวัณโรค
  4. ความล่าช้าจากการรักษา (Treatment’s delays) คือระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย และสิ้นสุดเมื่อเริ่มต้นรักษาครั้งแรก

ผลกระทบที่เกิดจากความล่าช้าในการรักษา ประกอบด้วย 2 ระดับ คือ

  1. ระดับตัวบุคคล คือผลกระทบของการเกิดโรคต่อร่างกายของผู้ป่วยเอง เช่น อาการหอบเรื้อรังแม้รักษาหายแล้ว เป็นต้น
  2. ระดับสังคม คือผลกระทบที่บุคคลที่ป่วยจะนำเชื้อโรคไปแพร่สู่สังคม ทำให้เกิดการระบาดของโรคยากที่จะสามารถควบคุมได้

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 "Tuberculosis (TB)". www.who.int (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2020.
  2. Ferri FF (2010). Ferri's differential diagnosis : a practical guide to the differential diagnosis of symptoms, signs, and clinical disorders (2nd ed.). Philadelphia, PA: Elsevier/Mosby. p. Chapter T. ISBN 978-0-323-07699-9.
  3. 3.0 3.1 Hawn TR, Day TA, Scriba TJ, Hatherill M, Hanekom WA, Evans TG, และคณะ (ธันวาคม 2014). "Tuberculosis vaccines and prevention of infection". Microbiology and Molecular Biology Reviews. 78 (4): 650–71. doi:10.1128/MMBR.00021-14. PMC 4248657. PMID 25428938.
  4. 4.0 4.1 4.2 Organization, World Health (2008). Implementing the WHO Stop TB Strategy: a handbook for national TB control programmes. Geneva: World Health Organization (WHO). p. 179. ISBN 978-92-4-154667-6.
  5. 5.0 5.1 Harris RE (2013). Epidemiology of chronic disease: global perspectives. Burlington, MA: Jones & Bartlett Learning. p. 682. ISBN 978-0-7637-8047-0.
  6. 6.0 6.1 "Tuberculosis (TB)". World Health Organization (WHO). 16 February 2018. สืบค้นเมื่อ 15 September 2018.
  7. 7.0 7.1 "Global Tuberculosis Report" (PDF). WHO. WHO. 2019. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2020.
  8. Adkinson NF, Bennett JE, Douglas RG, Mandell GL (2010). Mandell, Douglas, and Bennett's principles and practice of infectious diseases (7th ed.). Philadelphia, PA: Churchill Livingstone/Elsevier. p. Chapter 250. ISBN 978-0-443-06839-3.
  9. "Basic TB Facts". Centers for Disease Control and Prevention (CDC). 13 มีนาคม 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2016. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2016.
  10. 10.0 10.1 Konstantinos A (2010). "Testing for tuberculosis". Australian Prescriber. 33 (1): 12–18. doi:10.18773/austprescr.2010.005.
  11. "Tuberculosis". World Health Organization (WHO). 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มิถุนายน 2013.
  12. 12.0 12.1 "Global tuberculosis report". World Health Organization (WHO). สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2017.
  13. Kumar V, Robbins SL (2007). Robbins Basic Pathology (8th ed.). Philadelphia: Elsevier. ISBN 978-1-4160-2973-1. OCLC 69672074.
  14. Lawn SD, Zumla AI (กรกฎาคม 2011). "Tuberculosis". Lancet. 378 (9785): 57–72. doi:10.1016/S0140-6736(10)62173-3. PMID 21420161. S2CID 208791546.
  15. "รู้จัก 13 ชื่อโรคติดต่ออันตราย!ก่อนสธ.ประกาศ 'ไวรัสโควิด-19' เป็น'น้องใหม่'". สำนักข่าวอิศรา. 20 กุมภาพันธ์ 2020.
  16. THE STOP TB STRATEGY : Building on and enhancing DOTS to meet the TB-related Millennium Development Goals. Ganeva, Switzerland: World Health Organization (WHO). 2006.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
The offline app allows you to download all of Wikipedia's medical articles in an app to access them when you have no Internet.
บทความวิกิพีเดียด้านการดูแลสุขภาพสามารถอ่านออฟไลน์ได้ทาง Medical Wikipedia app.
การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy